• Future Perfect
  • Articles
  • จากสีชมพูสู่เส้นทางสีเขียว: การสำรวจป่าของนักอนุรักษ์รุ่นใหม่

จากสีชมพูสู่เส้นทางสีเขียว: การสำรวจป่าของนักอนุรักษ์รุ่นใหม่

Sustainability

ความยั่งยืน24 ต.ค. 2567 15:35 น.

ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานของไทย ด้วยตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าอันคึกคักและทันสมัย ในขณะที่พื้นที่ชนบทโดยรอบยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติอันล้ำค่า หนึ่งในนั้นคือ อำเภอสีชมพู ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งระบบนิเวศที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยชุมชนได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ธนพนธ์ มหึมา วัย 12 ปี เกิดและโตที่อำเภอสีชมพูในจังหวัดขอนแก่น เมื่อหลายปีก่อน เขาต้องออกจากโรงเรียนเพื่อย้ายตามพ่อแม่จากไร่อ้อยเพื่อมาทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ เพราะรายได้จากไร่อ้อยนั้นไม่พอเลี้ยงครอบครัว การอาศัยในห้องคับแคบที่ล้อมรอบไปด้วยเหล็กและปูนในเมืองหลวงทำให้เขารู้สึกโหยหาผืนป่าที่เขียวชอุ่มและเนินเขาที่บ้าน จนในที่สุดธนพนธ์ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่กับป้าที่อำเภอสีชมพูอีกครั้ง ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ไม่เพียงแต่นำเขากลับมาพบกับความสงบในอ้อมกอดธรรมชาติที่คุ้นเคย แต่ยังเปิดโอกาสให้เขาได้เชื่อมต่อกับรากเหง้าเดิมและมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมอาสาต่างๆ ของชุมชน

เมื่อกลับสู่บ้านเกิด ธนพนธ์ได้เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ริเริ่มโดยครูสัญญา มัครินทร์ ครูหนุ่มไฟแรงซึ่งย้ายกลับมาอยู่ที่อำเภอสีชมพูหลังจากไปทำงานในเมืองอยู่หลายปี สัญญาอยากให้คนท้องถิ่นรู้สึกภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตน เขาจึงริเริ่มโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หวังจะแสดงให้โลกเห็นถึงเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในอำเภอ พร้อมกับปลูกฝังความภาคภูมิใจและความรับผิดชอบในชุมชนให้กับเด็กๆ โดยมีธนพนธ์เป็นหนึ่งในตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่มาร่วมโครงการ

"ผมรักป่ามาตั้งแต่เด็ก และก็รักมากขึ้นเรื่อยๆ" ธนพนธ์บอก เขาออกสำรวจทุกซอกมุมของอำเภอ ทั้งภูเขาสูงตระหง่าน ลำธารเงียบสงบ และภาพเขียนโบราณบนหน้าผา ยิ่งเรียนรู้ เขาก็ยิ่งซาบซึ้งในธรรมชาติ เมื่อพบเห็นการตัดไม้ทำลายป่าในชุมชน เขาจะรีบไปแจ้งเจ้าหน้าที่ "ผมอยากปกป้องป่านี้ไว้" เขากล่าวด้วยความมุ่งมั่น

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนพนธ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งยูนิเซฟจัดขึ้น โดยมีเด็กจากโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอกว่า 50 คน ร่วมเดินป่าสำรวจธรรมชาติและประวัติศาสตร์ กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Count Me In โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก ที่ยูนิเซฟจัดทำขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานของยูนิเซฟในปี 2566 ระบุว่า ขอนแก่นเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดที่เด็กได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยเด็กๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภัยแล้ง คลื่นความร้อนและน้ำท่วม

วราภรณ์ รักษาพราหมณ์ เจ้าหน้าที่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลูกฝังเด็กๆ ให้รักธรรมชาติคือรากฐานของการจัดการกับปัญหาโลกรวน “การที่เด็กๆ ตระหนักถึงธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และเข้าใจประโยชน์ของธรรมชาติเป็นการสร้างรากฐานสำหรับพวกเขาในการปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อไป และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว”

กิจกรรมของเด็กๆ ตลอดสุดสัปดาห์เต็มไปด้วยความสนุกสนานและแรงบันดาลใจ โดยมีธนพนธ์เป็นผู้นำในการเดินป่า และยังมี "ใบตอง" จรีรัตน์ เพชรโสม อินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสำรวจธรรมชาติกับเด็กๆ ทั้งปีนหน้าผา และลุยน้ำในลำธาร นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้ร่วมงานกับนักศึกษาอาสาสมัครจากโครงการ "I Am UNICEF" เพื่อเรียนรู้ทักษะการเล่าเรื่องและการทำวิดีโอสั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและความต้องการของพวกเขา

จุฬาลักษณ์ วันทะนี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสีชมพู เป็นหนึ่งในเยาวชนที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการเหมืองหินที่อาจทำลายภูเขาและสร้างมลพิษในอำเภอ “เป็นห่วงการทำโรงโม่หรือเหมืองหินเพราะเราเห็นผลกระทบของมันมาเยอะแล้ว เราอยากอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ภูเขาถูกทำลาย อยากเรียนรู้วิธีการทำสื่อเพื่อช่วยส่งเสียงคนในชุมชนด้วย” เธอกล่าว

กิจกรรมของเด็กๆ จบลงด้วยการนำเสนอวิดีโอของพวกเขาต่อผู้นำชุมชนที่มารับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ สำหรับหลายคน นี่เป็นโอกาสแรกที่ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบอนาคตของชุมชน "นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้นั่งกับผู้นำชุมชนเพื่อบอกเล่าความต้องการของเรา" ครูสัญญาบอก “และนี่เป็นครั้งแรกที่เด็กได้นั่งร่วมกับผู้นำชุมชนและแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อพื้นที่”

สำหรับธนพนธ์ ความรักในธรรมชาติของเขานั้นงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เขาฝันที่จะเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติ “แม้ว่าอำเภอจะชื่อสีชมพู แต่จริงๆ แล้วมันเขียวมาก และผมอยากให้มันเขียวแบบนี้ตลอดไป”

SHARE

Follow us

  • |