• Future Perfect
  • Articles
  • "ไทยรัฐ กรุ๊ป" สานต่อการศึกษาไทย ยุคเอไอ ในงาน Thairath Afternoon Gala

"ไทยรัฐ กรุ๊ป" สานต่อการศึกษาไทย ยุคเอไอ ในงาน Thairath Afternoon Gala

Sustainability

ความยั่งยืน18 ต.ค. 2567 17:46 น.

"ไทยรัฐ กรุ๊ป" สานต่อการศึกษาไทย ยุคเอไอ จัดงานเสวนาระดมความคิดปฏิรูปการศึกษาในงาน Thairath Afternoon Gala โดย "คุณบัณฑูร ล่ำซำ" ชี้ต้องส่งเสริมโอกาสเพื่อเด็กยากไร้ให้มากขึ้น ด้าน "คุณศุภชัย เจียรวนนท์" ชี้ยุคเอไอเพิ่มโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะที่ "คุณจิตสุภา วัชรพล"  ย้ำโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เดินหน้าสานต่อไม่หยุดยั้ง  

วันนี้ (18 ต.ค.67) ไทยรัฐ กรุ๊ป จัดงาน Thairath Afternoon Gala ภายใต้แนวคิด "Empowering Through Education" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมีคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย, คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ รวมถึงกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ได้ร่วมเสวนาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการศึกษาที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ในงานได้รับเกียรติจากคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังเสวนา  

โดยมีผู้บริหาร “เครือไทยรัฐ กรุ๊ป” ให้การต้อนรับอาทิ คุณยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด , คุณสราวุธ วัชรพล บรรณาธิการบริหาร นสพ.ไทยรัฐ , คุณวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ , คุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์,คุณธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ ไทยรัฐออนไลน์

โรงเรียนไทยรัฐวิทยา มี 111 แห่งทั่วประเทศ ด้วยความมุ่งหมายของ ท่านกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และมูลนิธิไทยรัฐวิทยา ซึ่งตอนนี้มีนักเรียนทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นคน และมีนักเรียนที่จบจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยาไปแล้วกว่า 8 แสนคน  

"ไทยรัฐวิทยา" สานต่อความมุ่งมั่นเพื่อการศึกษา :

การศึกษาไทยภายใต้ความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทาย แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเหลือในด้านการศึกษาทางไกล "คุณจิตสุภา วัชรพล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ รวมถึงกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเติบโตมากับยุคท่องจำในห้องเรียน ยังไม่เน้นการคิดวิเคราะห์มากเท่าไหร่ ซึ่งพอได้ไปเรียนในต่างประเทศ จะเห็นความแตกต่าง ในการสอนให้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เช่น การบ้านในชั้น ป1 โรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ จะมีคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ 

โดยส่วนตัว ยังอยากให้ลูกเรียนที่ไทยในช่วงวัยเด็ก แต่ถ้าในระดับมหาวิทยาลัย อาจจะมีการส่งไปให้เรียนต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจความหลากหลาย 

ประเด็นความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย เป็นสิ่งที่ไทยรัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหามานาน ทำให้เกิดการก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และทำให้เกิดการศึกษา ส่งเสริมให้มีคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน หรือบางแห่งมีรถรับส่ง เพราะบางพื้นที่เด็กยากไร้มาก เช่น เด็กบางคนที่มาโรงเรียนไม่มีเงินซื้ออาหารเช้า ทางมูลนิธิก็พยายามจัดสรรเงิน เพื่อให้เด็กได้ทานอาหารเช้า เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม 

การจัดงานครั้งนี้เพื่อสานต่อให้กับเยาวชนในอนาคต ซึ่งมูลนิธิไทยรัฐ ยังดำเนินการต่อไป เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของสังคมไทย ซึ่งแนวทางในการดำเนินงานจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น 

"คุณบัณฑูร ล่ำซำ" ส่งเสริมโอกาสเพื่อเด็กยากไร้ :

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ส่วนตัวในวัยเด็กได้รับโอกาสด้านการศึกษา แต่ในขณะนี้ก็ยังมีเด็กอีกหลายคนขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะปัจจุบันระบบการศึกษา ต้องพยายามให้คนเรียนรู้ในมุมที่กว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ

จึงพยายามให้โอกาสกับเด็กที่ด้อยโอกาส ซึ่งถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาก็จะหันไปหายาเสพติด หรือทำอาชีพไม่สุจริต ตอนนี้ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย มีกันทุกจังหวัดในที่ห่างไกล เพราะงบประมาณลงไปไม่ถึง ขณะที่ตัวเด็กอาจอยู่ในสภาพพื้นที่ทุรกันดาร เลยเป็นแรงกดดันทำให้เด็กขาดการศึกษา 

ด้านครู หากไม่มีการดูแลครูที่เหมาะสม ครูก็ไม่อยากเดินทางไปในโรงเรียนห่างไกล เลยทำให้ครูไม่อยากเดินทางไปสอนในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้เด็กไม่ได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสม 

ตอนนี้ทางหน่วยงาน มีการจัดทำโครงการช่วยเหลือรถนักเรียนให้กับเด็กยากไร้ที่ จ.น่าน เพราะเด็กส่วนใหญ่อยู่บนดอย การจะเดินทางมาโรงเรียนก็ยาก เลยต้องมีการอำนวยความสะดวกในเรื่องรถรับส่ง ความต้องการในการพัฒนาการศึกษาไทย สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือ งบประมาณในการศึกษา ต้องมีแนวทางในการจัดสรรให้ถึงโรงเรียนที่ห่างไกลและทุรกันดาร ซึ่งอาจต้องมีการดึงงบบริจาคจากเอกชนมาช่วย

"คุณศุภชัย เจียรวนนท์" โลกการศึกษายุคเอไอ :

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาในยุค 2.0 ในอดีต บ้านเราและทั่วโลก เน้นสร้างคนด้านการศึกษาวิจัย ส่วนอีกด้านเน้นคนเข้าสู่อุตสาหกรรม คิดว่าจบปริญญาแล้วประสบความสำเร็จ แต่ยุคนี้เป็นยุคเอไอ เดิมครูเป็นศูนย์การเปลี่ยนไป แต่การเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ต และเอไอ และการปฎิบัติมาใช้ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่างจากเดิมที่มองปัญหาเป็นภาระ แต่ยุคใหม่มองปัญหาเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

สำหรับส่วนตัว พ่อแม่อยากให้ลูกมีโลกทัศน์ที่สูง และต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ มีความรู้ที่ไม่มีขอบเขต แต่ศักยภาพของเด็กไทยแต่ละคนอาจไม่มีเงินเพียงพอในการส่งไปเรียนยังต่างประเทศ 

การพัฒนาการศึกษา ถ้าไทยเป็นฮับด้านการศึกษาในระดับสากล จะยิ่งส่งเสริมประเทศมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ระบบการศึกษาจากต่างประเทศเริ่มเข้ามามาก ทำให้มีการปรับเปลี่ยนในระบบการศึกษาไทย แต่สิ่งที่ยังต้องพยายามผลักดันคือ ระบบการศึกษาในมหาวิยาลัยที่มีความเป็นอินเตอร์ โดยพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นอินโนเวชั่นฮับ ซึ่งจะดึงให้ระบบการศึกษาไทยเป็นศูนย์กลาง ทำให้ชาวต่างชาติอยากมาเรียนที่ไทย 

แต่ในยุคเอไอ ระบบการศึกษาจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ในบทบาทของครูต้องเปลี่ยนไป แต่ไทยยังขาดศูนย์เรียนรู้ ในการสร้างแรงบันดาลใจ  

ปัจจุบันเพื่อนในออนไลน์ กับเพื่อนจริงมีความใกล้เคียงกัน ทำให้ระบบสังคมการศึกษาเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ขณะเดียวกันสื่อก็มีความจำเป็น ที่จะทำให้ระบบการศึกษาของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ละครหลังข่าว ถ้ามีการทำละครที่ทำให้เด็กพัฒนาในด้านคุณค่าและการศึกษา จะทำให้กรอบของการพัฒนาความคิดมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาด้านการศึกษาทุกคนต้องมีส่วนร่วม  

การศึกษาอนาคต ต้องทำใหเป้าหมายตัวชี้วัด มีความโปร่งใส ชุมชนเข้าถึงการประเมินศักยภาพในโรงเรียนสอดคล้องกับสังคมโดยรวม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของทุนเข้าไปด้วย และต้องมีกลไกความร่วมมือระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน พร้อมกับเปลี่ยนตัวชีวัดการสอนของครู ให้ความมั่นใจกับเด็ก มองเห็นความสนใจของเด็กทุกคนผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งต้องส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กด้วย

ตอนท้ายประมูลของการกุศล จากผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ รวม 16 ชิ้น ระดมทุนเข้ามูลนิธิไทยรัฐ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมบทบาทสำคัญอนาคตการศึกษาไทย เพื่อร่วมพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก 11 พันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ,บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทในเครือสหพัฒน์

การประมูลเพื่อสมทบทุนการศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีบริษัท Phillips Auction house เป็นพันธมิตรในการประมูล และช่วย สร้างสีสันกระตุ้นให้ผู้ร่วมประมูลในงานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีนาฬิกา 2 เรือน ทำลายสถิติ world record ทะลุเป้าในการประมูล ได้แก่ นาฬิกา Cartier Tank Solo และ Rolex Oyster ส่วนนาฬิกาอีกเรือนคือ Patek Philippe ทำลายสถิติการประมูลสูงสุดของประเทศไทย โดยรวมมูลค่าการประมูลของประมูลทั้งหมด 16 ชิ้นเป็นมูลค่ารวม 18 ล้านบาท

กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายเศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี, นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทบีทีเอส น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเดอะมอลล์ ฯลฯ 

SHARE

Follow us

  • |