จากความฝันในวัยเด็ก อยากเป็นวิศวกร อยากทำงานสายคอมพิวเตอร์ ไม่คิดจะเป็นครู แต่ในวันนี้ ดร.เสาวลักษณ์ บุญจันทร์ ศิษย์เก่าของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 (ห้วยคตสามัคคี) จ.อุทัยธานี คือผู้บริหารการศึกษาในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2 ที่ดูแล 122 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดอุทัยธานี
ในวัยเด็ก ดร.เสาวลักษณ์เติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง อาศัยอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี ตอนเด็กๆ ไม่รู้จักความเป็นดอกเตอร์ เรียนตามที่คุณครูแนะนำ ก็จะเรียนไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส เริ่มรู้ช่องทางการเรียนมากขึ้น ตั้งแต่ชั้นมัธยมที่มีโอกาสได้เห็นคุณครูจบปริญญาโท บางท่านลาไปศึกษาต่อ จึงเห็นแบบอย่างว่าจะเรียนต่ออย่างไรได้บ้าง
เรียนรู้วิชาการบ่มเพาะความเป็นผู้นำ
ดร.เสาวลักษณ์ เล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจในวัยเด็กให้ฟังว่า มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญในช่วงวัยเรียน คือช่วงเรียนชั้นประถม ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 (ห้วยคตสามัคคี) ที่มีมูลนิธิไทยรัฐอุปถัมภ์ มีคุณครูท่านหนึ่ง คือ ครูวรรณา กีตา สอนตั้งแต่ชั้น ป.1 วิชาคณิตศาสตร์ และตั้งใจปั้นเด็กหญิงเสาวลักษณ์ในเวลานั้นให้ไปแข่งในเวทีการแข่งขันวิชาการด้านคณิตศาสตร์ จึงจัดเต็มติวเข้ม พอไปแข่งขันก็แพ้บ้างชนะบ้าง ซึ่งคุณครูให้กำลังใจว่า ไม่เป็นไรและให้มาฝึกใหม่เข้มข้นกว่าเดิมจนถึงชั้น ป.6
หากย้อนเวลาไปในช่วงที่เรียนชั้นประถม สิ่งที่ได้เรียนรู้ไม่เพียงวิชาการความรู้ แต่ยังได้บ่มเพาะการเป็นผู้นำ จากการได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.5 ถูกสอนเรื่องความมีวินัย จากการเรียน และการเล่นกีฬา ได้เรียนรู้วิชาการใช้ชีวิต การสร้างอาชีพตั้งแต่ทำแปลงผัก ทำอาหาร ขนม และการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ดี
“ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา สอนเรื่องการมองประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะตอนเป็นประธานนักเรียน ที่ต้องมีความรับผิดชอบ เสียสละ ถูกปลูกฝังให้ทำเพื่อสังคม”
จากนั้นก็ไปเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี โดยอาจารย์สะอาด จินตกสิกรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 ในขณะนั้นไปคุยกับที่บ้านว่าอยากให้ไปเรียนต่อ ทางบ้านวางใจที่ผู้อำนวยการเลือกโรงเรียนให้ รวมถึงช่วยขับรถพามาสอบเข้าเรียน ม.1 อีกด้วย
อาจารย์สะอาด ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 จึงถือเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ช่วยนำทางให้เด็กหญิงเสาวลักษณ์ในเวลานั้น มุ่งสู่เส้นทางการศึกษาได้ต่อเนื่อง สอบได้ทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) เข้าเรียนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์
เรียน สอบ เดินตามแผนชีวิตที่ออกแบบไว้
หลังจากจบการศึกษาในวัย 23 ปี ในปี 2552 ดร.เสาวลักษณ์ ได้เป็นข้าราชการตามที่คุณพ่อคุณแม่หวังไว้ กับการเป็นครูที่โรงเรียนห้วยคตพิทยาคม อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี นับจากนั้นคือช่วงของการตั้งใจเรียนจนจบปริญญาเอก และมุ่งสู่อาชีพเป็นสายบริหารการศึกษา
ปี 2556 จึงเริ่มเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา ในระดับปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการบริหารการศึกษา
ปี 2558 เรียนปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ศึกษา
ปี 2561 เรียนระดับปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ เอกวิจัย ประเมิน และสถิติการศึกษา
ส่วนในสายการบริหารการศึกษาก็มุ่งหน้าเดินตามเส้นทางที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่
ปี 2559 สมัครสอบ ได้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ โรงเรียนการุ้งวิทยาคม อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ปี 2562 สมัครสอบเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ปี 2564 สมัครสอบเป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดทัพหมัน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ปี 2566 สมัครสอบ เป็นรองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2 ในวัย 38 ปี
ปี 2567 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2 ดูแลครอบคลุมโรงเรียนในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอห้วยคต อำเภอหนองฉาง และอำเภอลานสัก จำนวน 122 โรงเรียน จำนวนคุณครู 1,200 คน และนักเรียน 16,000 คน
ความมุ่งมั่นจนสำเร็จแต่ละขั้นของชีวิตนั้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คือความตั้งใจ ที่ ดร.เสาวลักษณ์ เล่าว่ามาจากความมีวินัย การวางเป้าหมายที่ชัดเจน
“ถ้าเราไม่วางเป้าตั้งแต่ต้นก็จะเห็นไม่ชัด และทำได้ไม่ชัด อย่างที่มองเห็นโอกาสความก้าวหน้า ที่หากเรามีโอกาสดูแลจำนวนโรงเรียนมากขึ้น ก็สามารถช่วยเหลือได้มากขึ้น จากเดิม 1 ห้อง หนึ่งโรงเรียน ก็ได้ดูแลหลายโรงเรียนมากขึ้นเมื่อมีเป้าหมายชัดแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมความพร้อมเช่น เมื่อตั้งใจเรียนให้สูงสุด ก็ต้องแบ่งเวลา ทุกตำแหน่งที่ผ่านมาคือต้องสอบ ผ่านการจัดการเวลาในการอ่านหนังสือ ที่ไม่กระทบกับการทำงาน ทำตารางชีวิต ตั้งเป้าหมายว่าจะอ่านหนังสือกี่เดือน หัวข้อไหนอ่านวันไหน ทำตารางตลอด เมื่อทำแล้วก็ขีดถูกว่าได้อ่านแล้ว ทำให้ได้ทบทวนตัวเองตลอดเวลา
ดังนั้นเด็กนักเรียนต้องตั้งเป้าหมายตัวเองให้ชัด เพราะแม้ว่าจะฝันอย่างดี มีเป้าหมายแต่ไม่ลงทำก็ไปไม่ถึง จึงต้องมีเป้าหมายให้ชัด และวางแผนชีวิตตัวเอง ให้ถูกทางและลงมือทำตามที่กำหนดและตั้งใจไว้ หากเด็กบางคนไม่สามารถตั้งเป้าหมายได้เอง ก็ปรึกษาครอบครัว และคุณครูต้นแบบของเรา หรือคนที่เป็นแบบอย่างให้เรา”
ระบบการศึกษาแบบไหนเหมาะกับชีวิตในอนาคต
การผ่านประสบการณ์ที่พิสูจน์ว่าทำแล้วได้ผล คือคำแนะนำที่ดีที่สุด อย่างที่ดร.เสาวลักษณ์ มองย้อนไปในอดีตของตัวเองในวัยเด็ก ถ้าเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ค่อนข้างได้รับโอกาสเท่าที่น่าพอใจ และเมื่อมีโอกาสได้เป็นครู และเป็นผู้บริหารโรงเรียน ก็เห็นเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ยังขาดเรียน นี่คือปัญหาของระบบการศึกษาที่ยังเป็นโจทย์สำคัญในการช่วยกันแก้ไข
สำหรับคุณครูแล้ว นอกจากองค์ความรู้ที่ปลูกฝังให้เด็กแล้ว ในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมก็สำคัญมากในสังคมปัจจุบัน ชีวิตจะสำเร็จได้ต้องเป็นคนดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ และอยากให้เน้นทักษะชีวิต ที่เด็กต้องใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว สภาพสังคมปัจจุบันอยู่ในภาวะน่าห่วง อยากให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน ไม่เช่นนั้นเวลาเจอปัญหา อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ ถ้าภูมิคุ้มกันดีก็จะผ่านไปได้ เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงในระบบการศึกษาที่สอนกันอยู่ในปัจจุบัน จะเพียงพอสำหรับในอนาคตหรือไม่ เพราะในอีก 20-30 ปี ข้างหน้า ยังไม่รู้ว่าสังคมจะเจออะไร แบบไหน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ระบบการศึกษาจะสอนให้เขาอยู่อย่างมีความสุข อยู่ในอนาคตที่มั่นคงอย่างไร จึงเป็นโจทย์ท้าทายของทุกคน
อ่านเรื่องราวศิษย์เก่าโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพิ่มเติม :