"โคคา-โคล่า" สานต่อความสำเร็จ 17 ปีของโครงการ "รักน้ำ" ผลักดันยุทธศาสตร์การจัดการน้ำให้ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการแก้ปัญหา "น้ำ" อย่างยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าสานต่อโครงการ “รักน้ำ” โดยการใช้นวัตกรรมและความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างแท้จริงและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการ “รักน้ำ” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 17 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับหลายองค์กรพันธมิตร อาทิ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่น ๆ เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการท้องถิ่น ปัจจุบันโครงการ “รักน้ำ” ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำชุมชนใน 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย อันได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม และกระบี่ ซึ่งโครงการในจังหวัดเหล่านี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า ในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา รวมถึงจังหวัดลำปาง นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และปทุมธานี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย
ภายในงานสัมมนา Sustrends 2025 ซึ่งอัปเดตเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนประจำปี ผู้แทนจากองค์กรพันธมิตรในโครงการ “รักน้ำ” พร้อมด้วยผู้แทนชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในพื้นที่โครงการ “รักน้ำ” ได้มาร่วมพูดคุยบนเวทีภายใต้หัวข้อ “แลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับโครงการ “รักน้ำ” การจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางความสำเร็จของการจัดการน้ำที่สามารถช่วยให้ชุมชนให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่องมากว่า 17 ปี
โดยการส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำจึงเป็นภารกิจที่ “โคคา-โคล่า” ให้ความสำคัญทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ดังนั้น ยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำปี พ.ศ. 2573 ของ “โคคา-โคล่า” จึงมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เพื่อยกระดับความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ
คุณศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว กล่าวว่า โคคา-โคล่า ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะ “น้ำ” คือชีวิต และเพราะน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ต่อการผลิตเครื่องดื่มของเรา และต่อชุมชนที่เราดำเนินงานอยู่ ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา โครงการ “รักน้ำ” ได้เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม โครงการ “รักน้ำ” มุ่งใช้นวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จของโครงการ “รักน้ำ” ใน 6 จังหวัดได้ช่วยให้ชาวบ้านสามารถจัดการน้ำ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง ในปีนี้เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต่อยอดความสำเร็จด้วยการขยายโครงการ “รักน้ำ” ไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ ในอีก 3 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม เพชรบูรณ์ และกระบี่
ในแต่ละชุมชนเผชิญปัญหาน้ำที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรืออุทกภัย แผนการจัดการน้ำจึงได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้คนในชุมชนได้เตรียมพร้อมและรับมือกับปัญหาน้ำได้ดียิ่งขึ้น ดังกรณีตัวอย่างที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านในชุมชนได้รวมกลุ่มเพื่อช่วยกันจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการสร้างแหล่งน้ำสาธารณะ สร้างระบบทางเดินของน้ำที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ขุดลอกคูคลอง และปรับการเพาะปลูกพืชผลให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจนเพียงพอต่ออุปโภค บริโภค รวมไปถึงการทำเกษตรกรรมก็สามารถเพาะปลูกพืชผลได้หลากหลาย และสร้างงานให้กับชุมชน
แม้ว่าโครงการ “รักน้ำ” ในชุมชนบ้านลิ่มทองจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา แต่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ได้นำมาใช้ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จและองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชนนี้ยังได้เป็นโมเดลต้นแบบการจัดการน้ำให้ชุมชนอื่น ๆ ได้นำไปปรับใช้ ดังที่ชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2567
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้ร่วมดำเนินงานโครงการ "รักน้ำ" ด้วยการส่งต่อความรู้ ให้ชุมชนที่อยู่นอกเขตชลประทานได้ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริด้านน้ำของรัชกาลที่ 9 ไปพัฒนา ฟื้นฟู และบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทั้งในชุมชน และหน่วยงานภายนอก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนจึงจำเป็นต้องปรับตัว และสร้างภูมิคุ้มกันของตนเอง คือมีน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลน เพื่อลดผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ซึ่งชุมชนบ้านลิ่มทองคือตัวอย่างความสำเร็จนี้
นอกจากนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้เข้าไปถ่ายทอดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการสำรวจพื้นที่มาพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้น้ำกระจายได้ทั่วทั้งชุมชนตามแรงโน้มถ่วง และทำปฏิทินผลผลิต คำนวณปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก ผลสำเร็จของบ้านลิ่มทองนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาน้ำ แต่สร้างอาชีพ รายได้ และทำให้ครอบครัวกลับมาพร้อมหน้า ลดการย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ในโลกยุคปัจจุบันที่นวัตกรรมต่าง ๆ ก้าวหน้าขึ้นมาก เราหวังว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยให้ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำและเกษตร รวมทั้งการขายและการตลาด ให้ชุมชนประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
และโครงการ “รักน้ำ” ในจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการนำวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการน้ำ
คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) กล่าวว่า สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยตระหนักว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชน เราได้ศึกษาแนวทางพัฒนาชุมชนรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำ ดังเช่นโครงการ “รักน้ำ” ในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า โดยได้เข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนเข้าถึงน้ำได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยแก้วิกฤตภัยแล้ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โครงการนี้ยังได้ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการติดตั้งระบบจัดการน้ำที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบการจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (SPWS) และระบบการจัดการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำใต้ดิน (MAR) พร้อมเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้คนในชุมชน โดยสนับสนุนให้ชุมชนได้เป็นเจ้าของโครงการ รวมทั้งผลักดันการมีส่วนร่วมและการลงทุนในพลังงานสะอาดของชุมชน ไปจนถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จในระยะยาว และสามารถพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างยาวนานให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้ ความสำเร็จนี้ได้ตอกย้ำว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนและวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดของแต่ละชุมชนนั้นมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้แก่ภูมิภาคอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย
ความสำเร็จของโครงการ “รักน้ำ” ในจังหวัดขอนแก่นได้รับการนำไปต่อยอดให้กับโครงการใหม่ในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกระบี่ ที่เริ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ โดยนำรูปแบบการจัดการน้ำของจังหวัดขอนแก่นมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาน้ำของชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน อันจะนำไปสู่การจัดการน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว.