สืบเนื่องจากการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วประเทศ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการสัมมนาครั้งที่ 42 ที่สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่ง “ทีมการศึกษา” ตระหนักถึงเนื้อหาและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาชาติ จึงขอนำบางช่วงบางตอนของการบรรยายมาเผยแพร่ต่อสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ มีความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
“ไทยรัฐวิทยา” เกิดด้วยจิตกุศล
นายบัณฑูร ล่ำซำ กล่าวว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยาและมูลนิธิไทยรัฐ เกิดขึ้นและเติบใหญ่มาด้วย วิสัยทัศน์และจิตอันเป็นกุศลของ “ผอ.กำพล วัชรพล” ซึ่งเชื่อว่าท่านตามงานนี้อยู่จากที่สูงๆ บนฟ้า วันนี้โจทย์ใหญ่ของโลกมนุษย์ทุกวันนี้ คือเรื่อง “ความยั่งยืน” (Sustainability) ซึ่งมีหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการทำมาหากินอย่างถูกต้อง ด้านความยุติธรรม ความไม่เหลื่อมล้ำกันจนเกินไป ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์อยากจะมีชีวิตอย่างยั่งยืน คือ มีชีวิตที่มีความหมาย โจทย์ของความยั่งยืนก็แตกต่างกันหลายๆด้าน ที่จังหวัดน่านก็มีด้านที่จะมานำเสนอ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เผื่อจะเรียนรู้ในมิติใหม่ๆไปด้วยกัน
จังหวัดน่านป่าต้นน้ำหาย 1.8 ล้านไร่
พูดถึงจังหวัดน่าน ก็ต้องพูดถึงป่าต้นน้ำน่านที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย กลั่นและกรองน้ำที่เป็นมวลน้ำ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดน่านไม่ใช่จังหวัดเล็ก 7.6 ล้านไร่ 85% เป็นภูเขาที่เป็นป่าสงวน ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของไทย แต่แปลกในพื้นที่นี้มีมนุษย์เข้าไปด้วย แล้วมนุษย์ไม่มีกินไม่มีทางออกที่ดี 20 ปีผ่านไปแบบตัวใครตัวมัน มีวิธีการทำมาหากินยังไงก็ทำไป แรกๆก็ไม่รู้จะทำอะไร มีคนมาเสนอปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพด ผลไม้อะไรต่างๆ ปกติก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่มันดันอยู่กลางป่าสงวน ก็ไปตัดป่าทีละนิดๆ ผ่านไป 15-20 ปี ป่าเลยหายไป 28% ของป่าต้นน้ำ เป็นพื้นที่ 1.8 ล้านไร่
ผมเลยมาดูเรื่องของจังหวัดน่าน ตระเวนไปตามที่ต่างๆ จนกระทั่งพอจะอนุมานได้ว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าพื้นที่ที่ถูกกฎหมายมันไม่พอ เมื่อมนุษย์มีความต้องการรัฐไม่ได้สนอง สุดท้ายก็ไปตัดต้นไม้ แรกๆไม่มีใครเดือดร้อน เพราะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พอตัดเยอะถ้าจับต้องจับทั้งจังหวัดเข้าคุก ไม่มีคุกใหญ่พออีก คราวนี้เลยติดแหง็กกันหมด พวกที่อยู่ในป่าไปตัดต้นไม้ในป่าก็เจอเงื่อนไขว่าผิดกฎหมาย งบประมาณแผ่นดินลงไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย เจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย ประชาชนก็เจ็บ ภาครัฐก็เจ็บที่รักษาป่าเอาไว้ไม่ได้
คุยกับนายกฯ “ประยุทธ์” เกิด “น่านแซนด์บ็อกซ์”
ต้องหาทางออกอีกวิธีหนึ่ง ผมก็มีแนวคิดของผม แต่ว่าเราเป็นราษฎร ไม่มีอำนาจทำอะไร ต้องไปหารัฐบาลปี 2559 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปี 2559 ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดึงความสนใจจากรัฐบาลได้ โดยขอให้ทำอะไรให้มันแตกต่างกว่าเดิมได้ไหม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดผลอะไรนะ หายเงียบไปเลย พอกินข้าวเสร็จก็กลับบ้านไป ผมตามไปตื๊อต่อที่ทำเนียบฯ วันหลังเจออีกตามตื๊อต่ออีก เพราะเป็นนายกฯ นี่เรื่องเป็นร้อยเรื่องเลย ถ้าไม่ตามตื๊อนี่รับรองไม่ได้ผล ในที่สุดก็ออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “น่านแซนด์บ็อกซ์”
รัฐกับประชาชนทะเลาะกัน “แผ่นดินไทยแพ้”
“น่านแซนด์บ็อกซ์” ถามว่าเป็นโครงการรัฐบาลใช่ไหม ไม่ใช่ เป็นหน่วยงานรัฐบาลไหม ไม่ใช่ มีงบแผ่นดินไหม ไม่มี นั่งคุยกันเฉยๆ ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนว่ามีวิธีอื่นดีไหม นอกจากนั่งทะเลาะกัน ซึ่งไม่มีใครชนะ และที่ผ่านมาทะเลาะกัน โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทำกินนี่ทะเลาะกันมากที่สุดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ถ้าตราบใดที่รัฐทะเลาะกับประชาชน คนที่แพ้ก็คือแผ่นดินไทย ดังนั้น ปะทะไม่ได้ ต้องหาทางออกอย่างฉลาด และทุกคนก็ต้องมีวิธีที่จะอะลุ่มอล่วย ข้อเสนอของน่านแซนด์บ็อกซ์ที่เสนอนายกฯประยุทธ์ มีสองประเด็นใหญ่ เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน ไม่ใช่ทำลายกันให้หมด ยั่งยืนทั้งป่า ยั่งยืนทั้งชีวิตมนุษย์ และคุณภาพของชีวิตมนุษย์
ใน 100% ที่เป็นป่าต้นน้ำน่าน หายไปแล้ว 28% ยังเป็นสีเขียวอยู่ 72% ผมเสนอท่านนายกฯ ว่าที่ทะเลาะกันไม่มีวันจบสิ้น เพราะประชาชนไม่มีที่ทำกิน ควรพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน โดยป่าที่หายไป 28% ขอคืนกลับมาเป็นป่า 18% ของ 100% เพื่อปลูกต้นไม้ และให้สิทธิ์ประชาชนทำงานอยู่ใต้ต้นไม้ได้ แต่ขอเอกสารสิทธิไม่ได้
ฝากปลูกฝังเด็กแก้ปัญหาอนาคต
โจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของความยั่งยืนคือ ต้องมีความรู้สูงพอ ถ้าความรู้น้อยจะแก้ปัญหาความยั่งยืนไม่ได้ เพราะว่าอะไรจะง่ายเท่าไถป่าไปมันไม่มี แต่มันไม่ยั่งยืนแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องมีทางที่สาม คือ การมีองค์ความรู้ที่สูงขึ้น ฝากท่านทั้งหลายที่อยู่ในห้องนี้จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่ ทำให้เด็กคิดไกลกว่าเราที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ พัฒนาความรู้ที่สูงกว่าที่ครูจะสอนได้ในวันนี้ มันถึงจะแก้ปัญหาอนาคตได้ เรากำลังพูดถึงว่าเราจะทิ้งอนาคตแบบไหนให้ลูกศิษย์ในโรงเรียนของท่าน มันต้องเป็นความรู้ที่สู้กับเขาได้ในโลกนี้ แล้วประเทศไทยอยู่คนเดียวที่ไหน ค้าขายก็ต้องค้าขาย สู้กับเขาทั้งโลก ไม่ใช่เขาเทมาทีเดียวก็เซไปอย่างที่เป็นทุกวันนี้
ความยั่งยืนเกิดได้เมื่อส่งต่อถึงเยาวชน
มนุษย์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การจะต้านทานเรื่องนี้ได้ก็คือ ต้องมีความตั้งใจที่จะต้านทาน อันที่สองต้องมีความรู้ที่จะต้านทาน และต้องมีคนจัดการให้มันทะลุไปด้วย แต่การจัดการต้องจัดการด้วยทุกภาค ทุกฝ่าย ทั้งรัฐ ประชาชน ครู นักเรียน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายการวิจัย ฝ่ายอะไรต่างๆ มันต้องรวมความรู้ เป็นทางออกที่รอดด้วยกันทุกฝ่าย ถึงจะเรียกว่ายั่งยืน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า ความหมายที่แท้จริงของความยั่งยืน คือ “การส่งต่อถึงเยาวชนได้ ถ้าส่งต่อเยาวชนไม่ได้ สิ่งที่ดีๆก็ไม่ยั่งยืน จะตายที่รุ่นเรานี่ล่ะ คำว่าจบที่รุ่นเรานี่ มีมิติอีกแบบนึง คือตายสนิทตั้งแต่วันนี้ อนาคตไม่เหลือ เราไม่ต้องการแบบนั้น ไม่ต้องการให้จบที่รุ่นเรา”
“มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน” แก้ปัญหาทุกมิติ
“มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน” สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตั้งขึ้นมาเอง เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดน่านทุกมิติ มูลนิธิจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการหาทางออกเรื่องการทำมาหากิน อีกด้านหนึ่งก็คือด้านสาธารณสุข เป็นด้านที่มีความต้องการมาก มูลนิธิรักษ์ป่าน่านได้เข้าไปช่วยหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดน่านขาดอะไรก็จัดให้หมด ทำให้คนรู้สึกดี ยังมีคนแคร์ ฉันไม่ถูกทอดทิ้ง ต่อให้ฉันอยู่ที่ชายขอบของสังคม ก็ยังมีคนสนใจ อันนี้คือรัฐศาสตร์สำคัญของการสร้างความไม่เหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น
แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ถือว่ามีความสำคัญมาก หากได้รับการดูแลที่ดี ประชาชนก็จะได้รับการบริการที่ดีตามไปด้วย ถ้าเป็นสายการศึกษาครูประชาบาล ครูชนบท สภาพบ้านของครูที่อยู่บนภูเขาที่จังหวัดน่านถือว่าแย่มาก ถามว่ามีใครอยากไปเป็นครูไหม มีกำลังใจที่จะสอนนักเรียนไหม นี่คือจุดโหว่ คนมองไม่เห็น แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ถือปัจจัย เกื้อหนุนในการทำหน้าที่ โดยหน้าบ้านเขียนข้อความไว้ว่า “อะไรจะสำคัญเท่าลูกศิษย์ไม่มี สำหรับฉันที่เป็นครู ลูกใครไม่สำคัญ ศิษย์ของฉันนั้นคือลูก” อันนี้คือสปิริตที่ต้องได้รับการสนับสนุน เป็นความกดดันมากเหลือเกิน ผลประโยชน์ก็ไม่มี อันนี้คือโจทย์ใหญ่ของความยั่งยืน
สร้างศูนย์เรียนรู้เสริมทักษะเด็กทุกศาสตร์
มีการย้ายศาลากลางจังหวัดน่านออกไปสร้างใหม่ หลังเก่ามูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ได้เข้าไปปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนรู้ ช่วยเสริมการศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งจะเสร็จสิ้นปีหน้า ตั้งเป้าเก็บเด็กอายุ 10-18 ปี เข้ามาใช้บริการ จะเรียนทั้งออนไลน์และออนไซต์ ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน มีหอพักให้เด็กบนดอยลงมาใช้บริการได้ 160 คน มูลนิธิจะส่งรถขึ้นไปรับจากบนดอยมาเลย จะระดมทุนทรัพย์ต่างๆเข้ามาร่วมกัน จนกระทั่งเกิดการพัฒนายกระดับความสามารถของมนุษย์ที่จะอยู่ในโลกนี้ได้ ในการทำมาหากิน แล้วมันถึงจะปลูกต้นไม้กลับคืนมาได้
ฝากครูคิด-ส่งต่อความยั่งยืนเยาวชน
คำจำกัดความที่ว่า “ความยั่งยืนนั้น คือการส่งต่อถึงเด็กได้” อันนี้คือสุดยอดของการส่งต่อเลย เจ้าฟ้ามหิดล สมเด็จพระราชบิดากับพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 อายุสองขวบจำทูลกระหม่อมพ่อไม่ได้ เพราะหลังจากนี้ ไม่กี่เดือน สมเด็จพระราชบิดาก็สิ้นแล้ว แต่ผม ไม่รู้ว่า ท่านถ่ายทอดยังไง ผ่านจิตวิญญาณ ผ่านดีเอ็นเอ ผ่านอะไร ลงมาถึงอีกคนนึงที่สามารถสืบต่อการบริการประชาชน บริการประเทศชาติได้ เป็นจุดหนึ่งที่สังคมไทยควรจะเรียนรู้ที่จะต้องทำ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา เก็บทุกคนไม่ทิ้งใคร แล้วแก้ปัญหาด้วยการที่หาความรู้ใหม่ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทำมาตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง แล้วถึงจะเรียกว่ายั่งยืนได้ แล้วคุณครูทั้งหลายมีหน้าที่หลักที่จะส่งต่ออย่างยั่งยืนให้เยาวชน ให้เขาคิดที่จะสู้ได้ในโลกที่นับวันจะยากขึ้น ในการที่จะอยู่อย่างมีความหมายได้.