• Future Perfect
  • Articles
  • ความสมบูรณ์ของแหล่ง "อาหารพะยูน" บริเวณสะพานราไวย์ พบหญ้าทะเลทั้งหมด 7 ชนิด

ความสมบูรณ์ของแหล่ง "อาหารพะยูน" บริเวณสะพานราไวย์ พบหญ้าทะเลทั้งหมด 7 ชนิด

Sustainability

ความยั่งยืน26 ส.ค. 2567 14:07 น.

กรมทะเล เผยความสมบูรณ์ของแหล่ง "อาหารพะยูน" จ.ภูเก็ต บริเวณสะพานราไวย์ พบหญ้าทะเลทั้งหมด 7 ชนิด โดยมี "หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย" เป็นชนิดเด่นของพื้นที่

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 จากกรณีที่ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับแจ้งจากเครือข่ายสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ภูเก็ต ว่าพบพะยูนบริเวณสะพานท่าเทียบเรือราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ ศวอบ. เร่งเข้าพื้นที่ตรวจสอบ พบพะยูนจำนวน 2 ตัว มีพฤติกรรมหาอาหารบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดราไวย์ 

จากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากการสังเกตะระยะไกล พบว่า พะยูนตัวที่ 1 มีความยาวลำตัวประมาณ 2.2 ม. และพะยูนตัวที่ 2 มีความยาวลำตัวประมาณ 2.5 ม. พะยูนทั้ง 2 ตัวมีความสมบูรณ์ ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดี การว่ายน้ำปกติและทรงตัวได้ดี มีอัตราการหายใจ 3-5 ครั้ง/5 นาที ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้ดำเนินการสำรวจและติดตามสถานการณ์พะยูนบริเวณอ่าวราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบพะยูนเข้ามาหากินในแนวหญ้าทะเลบริเวณสะพานราไวย์ในช่วงเวลาน้ำขึ้น จำนวน 2 ตัว ลักษณะและพฤติกรรมการกินอาหารปกติ โดยแหล่งหญ้าทะเลบริเวณอ่าวราไวย์ มีสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง พบหญ้าทะเลทั้งหมด 7 ชนิด มีหญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) เป็นชนิดเด่นของพื้นที่

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ ศวอบ. ได้ทำการสำรวจและบันทึกภาพ เพื่อทำการจำแนกตัวตนของพะยูนที่พบ สังเกตพฤติกรรม นับอัตราการหายใจ และได้ชี้แจงให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ให้ความสนใจและเข้ามาชมพะยูนบริเวณดังกล่าว

ขณะที่ทางเพจเฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong ของนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ก็ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ถ้าคุณมีโดรนและพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักวิทยาศาตร์พลเมือง (Citizen Scientist) ในการไขความลับ ทั้งในเรื่องจำนวนประชากร สุขภาพ พฤติกรรม และการแพร่กระจาย ของพะยูนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาบริเวณหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่กำหนดแนวทางการอนุรักษ์พะยูนได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

สามารถส่งภาพถ่าย หรือวิดีโอต้นฉบับที่มีข้อมูลวันที่ เวลา และพิกัดตำแหน่งถ่าย มาที่คุณ Boontika Intaring หรือ Nedrangsee Pranama Chitrat โดยการบินต้องปฏิบัติตามกฎการบินโดรน บินที่ความสูงไม่น้อยกว่า 30 เมตร ตั้งฉากกับตำแหน่งพบพะยูน โดยอาจใช้การซูมภาพเพื่อให้ได้รายละเอียดตำหนิบนตัวพะยูน และอาจทดลองบินในพื้นที่อื่นของหาดราไวย์เพื่อให้ได้ข้อมูลการสำรวจที่ครอบคลุม

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, Kongkiat Kittiwatanawong

SHARE

Follow us

  • |