• Future Perfect
  • Articles
  • 17 สิงหาคม "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ครบรอบ 5 ปีการจากไปของ "มาเรียม-ยามีล"

17 สิงหาคม "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ครบรอบ 5 ปีการจากไปของ "มาเรียม-ยามีล"

Sustainability

ความยั่งยืน17 ส.ค. 2567 10:41 น.

17 สิงหาคม "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของพะยูนต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ครบรอบ 5 ปีในการจากไปของ "มาเรียม" และ "ยามีล"

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพะยูนที่มีต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

โดยมีที่มาจาก "มาเรียม" และ "ยามีล" ลูกพะยูนพลัดหลงที่เกยตื้นขึ้นมา และเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากขยะพลาสติกที่อุดตันในทางเดินอาหาร

"พะยูน" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535 มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามถิ่นอาศัย เช่น ดูหยง หมูดุด เงือก วัวทะเล เป็นต้น มีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ว่ายน้ำโดยใช้การพัดโบกของครีบหาง มีขนาดตัวประมาณ 200-300 กิโลกรัม

พะยูนจะมีอายุเฉลี่ยในช่วงประมาณ 45-70 ปี โดยเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุ 9-10 ปี และตั้งท้องนาน 13-14 เดือน ซึ่งลูกพะยูนจะหายใจและว่ายน้ำอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลาเป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี และเมื่อมีศัตรู ลูกพะยูนจะว่ายน้ำหลบอยู่บนหลังของแม่

ในวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติปีนี้ ยังถือเป็นวันครบรอบ 5 ปีในการจากไปของ "มาเรียม" ลูกพะยูนขวัญใจคนไทยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อจากขยะพลาสติกในทางเดินอาหาร และ "ยามีล" ลูกพะยูนที่พลัดหลงกับแม่ และเสียชีวิตจากการที่มีขยะอยู่ในร่างกาย ซึ่งจากการจากไปของลูกพะยูนทั้งสองทำให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูน และการดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แนะนำการแก้ปัญหาทิ้งขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนอกจากจะช่วยทะเล สัตว์ทะเล และชายฝั่ง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้สถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษของโลกดีขึ้นด้วย ดังนี้

  • ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ถ้วย จาน และหลอดกระดาษ ใช้โฟมชานอ้อย หรือใบตองในการห่ออาหาร หรือลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์
  • รีไซเคิล นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่านำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)
  • ติดตั้งทุ่นดักขยะ ในบริเวณคลองท่อระบายน้ำโดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำ หรือปากคูคลองระบายน้ำป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดไหลลงทะเล
  • เผาทำลายขยะอย่างถูกวิธี เผาทำลายเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เตาเผาขยะที่ถูกหลักวิชาการ และนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้า
  • การรณรงค์ร่วมกันเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน เพื่อลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล

ข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(ติดตามข่าว สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดที่นี่)

SHARE

Follow us

  • |