• Future Perfect
  • Articles
  • อ.ธรณ์ แนะหาวิธีใหม่กำจัด "ปลาหมอคางดำ" ก่อนความตายของชายฝั่งจะกลายเป็นจริง

อ.ธรณ์ แนะหาวิธีใหม่กำจัด "ปลาหมอคางดำ" ก่อนความตายของชายฝั่งจะกลายเป็นจริง

Sustainability

ความยั่งยืน9 ส.ค. 2567 11:14 น.

อ.ธรณ์ แนะหาวิธีใหม่กำจัด "ปลาหมอคางดำ" ภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของชายฝั่ง และปากท้องของพี่น้องคนทะเล ก่อนที่ความตายของชายฝั่งจะกลายเป็นจริง

วันที่ 9 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับผลกระทบของ "ความตายของชายฝั่ง เมื่อปลาหมอคางดำลงทะเล"

โดยระบุว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาน้ำกร่อย สามารถอยู่ในพื้นที่ปากแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งได้ ที่ผ่านมาเริ่มมีข่าวการพบในบริเวณดังกล่าว ทั้งชายหาด อ่าว ป่าชายเลนบางแห่ง เช่น สมุทรปราการ ยังรวมถึงอ่าวคุ้งกระเบน จันทบุรี (สำรวจโดยกรมทะเล/คณะเทคโนโลยีทางทะเล ม.บูรพา เครือข่าย)

ข้อมูลระบุว่าที่คุ้งกระเบนพบปลาหมอคางดำเป็นสัดส่วนสูงกว่าปลาอื่นๆ ซึ่งเรื่องนั้นน่าเป็นห่วงมาก ป่าชายเลนและแหล่งหญ้าทะเลคือระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง คุ้งกระเบนมีทั้ง 2 อย่าง แต่ที่เด่นจริงคือหญ้าทะเล ถือเป็นแหล่งสำคัญมากของภาคตะวันออก หญ้าทะเลเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน 

สมัยผมเคยสำรวจ คุ้งกระเบนเป็นแหล่งลูกปลาเก๋าดีที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา (ปี 2530+) เมื่อปลาหมอเข้าคุ้งกระเบนได้ (ความเค็มเฉลี่ย 25+ ppt) ก็เข้าแหล่งหญ้าทะเลตามชายฝั่งอื่นๆ ของเราได้หลายแห่ง อ่าวทุ่งคา อ่าวบ้านดอน อ่าวพังงา ฯลฯ ล้วนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

ความหลากหลายทางชีวภาพของชายฝั่งอาจถูกคุกคามอย่างหนัก และชายฝั่งคือปากท้องของพี่น้องคนทะเล เราอาจมีแนวปะการังสวยงามตามเกาะที่ปลาหมอคงไปไม่ถึง แต่ถ้าพูดถึงการหาเช้ากินค่ำ ความหลากหลายที่กินได้ นั่นคือชายฝั่งทั้งนั้น

เมื่อมองภาพรวม เราแบ่งภัยคุกคามจากปลาหมอได้ 2 แบบ คุกคามต่อพื้นที่ไข่แดงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หญ้าทะเล/ป่าชายเลน คุกคามต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วไป การทำมาหากินของพี่น้องประชาชน

ในขณะที่เรามีเป้าหมายต่างๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพื้นที่คุ้มครอง OECMs ทั้ง Nature-based Solution ธุรกิจสีเขียว ฯลฯ แต่ตอนนี้ความหลากหลายของชายฝั่งกำลังถูกปลาหมอคางดำกิน และนี่อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่เราเจอเอเลี่ยนสปีชีส์โจมตีทะเลอย่างรุนแรง

เราแทบไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่าว่าแต่ทำไงถึงกำจัดได้ เอาแค่ความเสียหายเกิดขึ้นแค่ไหน เรายังไม่ทราบหรือประเมินไม่ถูก ลำพังแค่โลกร้อนทะเลเดือดทำให้เกิดวิกฤติหญ้าทะเล เราก็มึนกันแล้ว (ไม่นับปะการังฟอกขาวที่พอมีประสบการณ์และงานวิจัยต่างๆ ก่อนหน้า) มาเจอปลาหมอคางดำเข้าไปอีก เราตั้งตัวแทบไม่ทัน ภัยคุกคามแบบใหม่ๆ เกิดอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทะเลไทยกำลังเดือดร้อน

ทราบดีว่ากรมทะเลทำงานหนัก แต่ระบบแบบเดิมๆ ของเราอาจรับมือไม่ได้ เราต้องการทางออกใหม่ แต่นั่นไม่ง่ายแน่นอน

สิ่งแรกที่ผมคิดว่ามีประโยชน์คือตั้งประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ระดมหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกัน สำรวจพื้นที่ต่างๆ นำข้อมูลมารวมกัน หากที่ไหนมีข้อมูลก่อนหน้า เปรียบเทียบ before/after ว่าเกิดผลกระทบแค่ไหน ประเมินระดับของปัญหา หาค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของปลาหมอในระดับต่างๆ จัดลำดับความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่ แยกประเด็นให้ชัดว่าเป็นผลกระทบเรื่องไหนเป็นหลัก จากนั้นค่อยหาแนวทางจัดการทีละแห่งตามลำดับความสำคัญของพื้นที่

มิฉะนั้น เราก็คงได้แต่นั่งดูปลาหมอกินความหลากหลายของเรา ทำลายระบบนิเวศไปทีละแห่ง สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องคนหาเช้ากินค่ำมากขึ้นเรื่อยๆ ความตายของชายฝั่งจะกลายเป็นจริง…

ข้อมูลจาก แฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat

SHARE
03:05

ช่างตัดผมสุดสงสาร น้องผู้หญิงเหาขึ้นเต็มหัว จำเป็นต้องโกนผมทิ้งทั้งหมด

Follow us

  • |