- รู้จัก "ปลามอญ" ปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้มากในเมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เชื่อมโยงวิถีชีวิตคนในชุมชน ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ เสี่ยงสูญพันธุ์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เห็นความสำคัญ เร่งศึกษาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ "ปลามอญ"
- ชาวบ้านช่วยกันปล่อย "ลูกปลามอญ" ลงสู่แม่น้ำคองเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในธรรมชาติ หวังปลุกซีนเชียงดาว "ปรากฏการณ์ปลามอญกระโจนเข้าทุ่งนา" ให้กลับมาในรอบ 20 ปี
"ปลามอญ" เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบได้มากในเมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ระบบนิเวศ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เนื่องจากปลามอญมีรสชาติอร่อยและเป็นปลาเฉพาะถิ่น ทำให้กลายเป็นของดีประจำตำบล เรียกว่าใครมาเมืองคองต้องมากินปลามอญให้ได้สักครั้ง แต่หลายปีที่ผ่านมาพบว่า ปลามอญมีจำนวนลดจำนวนลงไปอย่างมากจนถึงขั้นเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่
ทั้งนี้ ผศ.อมรชัย ล้อทองคำ หัวหน้านักวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปลามอญ ได้เปิดเผยถึงความสำคัญว่า "ปลามอญ" เป็นผู้บริโภคลำดับที่ 1 หรือปลาที่กินพืชสาหร่าย เมื่อปลามอญมีจำนวนมากขึ้น ปลาธรรมชาติอื่นๆ ที่กินปลามอญก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ลดโอกาสที่เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) หรือสัตว์ต่างถิ่นจะเข้ามาครอบครองแหล่งน้ำ
"ปรากฏการณ์ปลามอญกระโจนเข้าทุ่งนา" กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง
หลังจากศึกษาวิจัยและทดลองในพื้นที่ พบว่า "ปลามอญ" สามารถเพาะเพื่อขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และชุมชนสามารถเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ ทำให้ในปี 2563 มีการปล่อยลูกปลามอญลงสู่แม่น้ำคอง ประมาณ 150,000 ตัว หลังจากนั้นพบว่าจำนวนปลามอญในธรรมชาติเพิ่มขึ้น
ต่อมาปี 2565 ปล่อยปลามอญเพิ่มอีก 350,000 ตัว ทำให้ประชากรปลามอญเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ "ปรากฏการณ์ปลามอญกระโจนเข้าทุ่งนา" กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในรอบ 20 ปี
"ปลามอญที่ปล่อยมาแล้วกว่า 4 แสนตัว จะช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศแหล่งน้ำ เมื่อปลามอญเพิ่มมากขึ้นจะทำให้มีปลานักล่าเพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน เมื่อแหล่งน้ำมีความสมบูรณ์ ปลาท้องถิ่นครอบครองพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ จะเป็นการป้องกันปลาและสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามารุกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยที่ยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ในขณะนี้"
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เด็กๆ และชาวบ้านใน ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จึงใช้โอกาสช่วงน้ำหลากในฤดูฝน ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ช่วยกันปล่อยลูกปลามอญ กว่า 50,000 ตัว ลงสู่แม่น้ำคองเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนในธรรมชาติ
สาเหตุที่ปลามอญจำนวนลดลง
นายวิเชียร บุญเรือง กำนันตำบลเมืองคอง บอกว่า ปลามอญจะอยู่ในแม่น้ำคองและแม่น้ำแม่แตงที่ไหลผ่านตำบลเมืองคอง หลายปีก่อนหน้านี้จำนวนปลามอญลดลงไปมากอย่างน่าตกใจ สาเหตุมาจากธรรมชาติที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการทำการเกษตรของชาวบ้านที่มีการใช้สารเคมีกันมากขึ้น
โดยช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูวางไข่ปลามอญจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ในที่น้ำตื้น โดยเฉพาะในทุ่งนาที่อยู่ติดกับแม่น้ำจนเกิดปรากฏการณ์ปลามอญกระโจนเข้าไปวางไข่ในทุ่งนาซึ่งเป็นภาพที่ชาวบ้านเห็นกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ระยะหลังสารเคมีที่ตกค้างในท้องนาทำให้ไข่ปลาเสียหายและไม่ฟักตัว ส่งผลให้จำนวนปลามอญลดลงต่อเนื่อง และทำให้ปรากฏการณ์ปลากระโจนเข้าท้องทุ่งในฤดูวางไข่หายไป ไม่มีใครได้เห็นมานานเกือบ 20 ปี
ปลามอญที่หายไปทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและตื่นตัวในการอนุรักษ์กันมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เข้ามาทำการวิจัยจนประสบความสำเร็จ สามารถเพาะขยายพันธุ์ ทำให้ชาวบ้านมีความหวังและในอนาคตมีแผนที่จะเพาะเลี้ยงและจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลักดันเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับปลามอญเมืองคอง
ขณะที่ นายธีรเดช พิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง กล่าวว่า ทั้ง 6 หมู่บ้านในตำบลเมืองคองที่มีน้ำคองและน้ำแม่แตงไหลผ่าน ได้พร้อมใจกันกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ไว้หมู่บ้านละประมาณ 1 กิโลเมตร ห้ามไม่ให้จับปลาทุกชนิด เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับปลามอญและปลาทุกชนิด
ด้าน ดร.นวรัตน์ พรหมอุปถัมภ์ หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนภายใต้โครงการเมืองคองโมเดล "หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับปลามอญ ชาวบ้านบอกว่าอยากให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้กิน แต่หาปลามาได้น้อยมาก จึงนำไปสู่การทำงานร่วมกับ มทร.ล้านนา จ.น่าน ที่เชี่ยวชาญด้านประมง จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์
ทั้งนี้ "ปลามอญ" เป็นปลาที่มีมูลค่าทั้งทางระบบนิเวศ และระบบเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่หาปลาได้ก็จะนำไปขายให้กับที่พักรีสอร์ตเพื่อรังสรรค์เป็นเมนูอาหารให้กับนักท่องเที่ยว ที่ขึ้นชื่อก็คือปลามอญทอดกระเทียมที่กินได้ทั้งตัว โดยนึ่งเสิร์ฟจะใช้ปลามอญประมาณ 20 ตัว ราคาเริ่มต้นที่ 150 บาท
โดยล่าสุดกำลังสร้างโปรเจกต์ "กินปลามอญ นอนโฮมสเตย์" ให้กับชาวเมืองคอง โดยมีปลามอญเป็นตัวเชื่อมโยงทุกมิติในชุมชน ทั้ง การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ปลามอญมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละกว่า 500 บาทแล้ว.
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา