• Future Perfect
  • Articles
  • 29 กรกฎาคม "วันเสือโคร่งโลก" ร่วมอนุรักษ์สัตว์นักล่า รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า

29 กรกฎาคม "วันเสือโคร่งโลก" ร่วมอนุรักษ์สัตว์นักล่า รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า

Sustainability

ความยั่งยืน29 ก.ค. 2567 13:00 น.

29 กรกฎาคม "วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก" (Global Tiger Day) ร่วมปกป้องสัตว์นักล่า ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

รู้หรือไม่ วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันเสือโคร่งโลก" หรือ Global Tiger Day จากการประชุมว่าด้วยเรื่อง เสือโคร่ง (Tiger Summit) ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปี ค.ศ. 2010 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง และสร้างความตระหนักของประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่ง

ที่มาและความสำคัญของ "วันเสือโคร่งโลก"

ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย โดยมีผู้แทนจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

ในการประชุมดังกล่าว ทั้ง 13 ประเทศ ต่างประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหิน เรื่อง การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูประชากรเสือ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ. 2565 และกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day)

ไขข้อสงสัย ทำไมต้องอนุรักษ์ "เสือโคร่ง"

1. เสือโคร่งเป็นผู้ล่าชั้นยอด

เสือโคร่ง สัตว์นักล่าแห่งพงไพรที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศคือ เป็นผู้ควบคุมประชากรสัตว์กินพืช สัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป

หากมีสัตว์ที่กินพืชพรรณในป่าเป็นอาหารมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศป่า อาจทำให้ต้นไม้ตาย ป่าเสื่อมโทรม แหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่าบางชนิดขาดแคลน ส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นทอดๆ ตามห่วงโซ่อาหารไปเรื่อยๆ จนระบบนิเวศเสียสมดุลในที่สุด

2. เสือโคร่ง คือ ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

เสือโคร่งสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน เพราะป่าใดมีเสือ ป่านั้นย่อมมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งอยู่มาก เนื่องจากเสือโคร่งจะเลือกอยู่อาศัยในพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์พร้อม และมีเหยื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต หากที่ใดอาหารขาดแคลน เสือก็จะเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม  

3. เสือโคร่งเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ

จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การสูญพันธุ์ของเสือโคร่ง ถือเป็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะอาณาเขตครอบครองของเสือโคร่ง แต่ละตัวครอบคลุมพื้นที่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด

สถานะภาพของ "เสือโคร่ง" ในปัจจุบัน

เสือโคร่งเคยมีพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติกว้างขวางทั่วทวีปเอเชีย แต่ปัจจุบันพื้นที่อาศัยลดลง ทำให้เสือโคร่งต้องอาศัยอยู่เป็นกลุ่มประชากรย่อยๆ กระจัดกระจายตามพื้นที่อนุรักษ์และป่าธรรมชาติใน 10 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ภูฏาณ เมียนมา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และรัฐเซีย ซึ่งคาดว่ามีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเหลืออยู่ประมาณ 5,574 ตัว

ส่วนรายงานการพบเสือโคร่งของประเทศไทย มีการประเมินประชากรในปี 2566 พบว่ามีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยเหลืออยู่ ประมาณ 179-223 ตัว กระจายตัวอยู่เฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

"ประเทศไทย" เหลือเสือโคร่งตัวเต็มวัย ประมาณ 223 ตัว

ในช่วงปี 2566-2567 จากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และเทคนิคการประเมินประชากรแบบ Spatially Explicit Capture Recapture (SECR) โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่เข้ามาศึกษาวิจัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ จำนวนกว่า 1,200 จุด และมีรายงานการสำรวจพบถ่ายภาพเสือโคร่งได้ ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย 

  • กลุ่มป่าตะวันตก 
  • กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 
  • กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี 
  • กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง 
  • กลุ่มป่าชุมพร 

และเมื่อนำข้อมูลการถ่ายภาพ ประกอบกับการประเมินความหนาแน่นประชากรของเสือโคร่ง ด้วยเทคนิคทางสถิติ (SECR) พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัย อยู่ประมาณ 179-223 ตัว โดยการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจะเห็นได้ชัดใน "กลุ่มป่าตะวันตก" ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ มีการเดินทางออกไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ และประเทศไทยยังได้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง จาก 41 ตัว ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 100 ตัว ในปี พ.ศ. 2565 ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 

แผนดำเนินการ "อนุรักษ์เสือโคร่ง" ปี 2567

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวในงานงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 ว่า สำหรับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในปี 2567 อยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวและกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ภายใต้การบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577

อย่างไรก็ตาม การสูญพันธุ์ของ "เสือโคร่ง" นับได้ว่าเป็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การอนุรักษ์เสือโคร่ง จึงมีความหมายมากกว่าการรักษาให้ประชากรเสือโคร่งยังคงอยู่ แต่ยังหมายถึงการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่อันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ และกระบวนการถ่ายทอดพลังงานที่สมบูรณ์.

SHARE

Follow us

  • |