• Future Perfect
  • Articles
  • 23 กรกฎาคม "วันวาฬและโลมาโลก" หยุดคุกคาม ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล

23 กรกฎาคม "วันวาฬและโลมาโลก" หยุดคุกคาม ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล

Sustainability

ความยั่งยืน23 ก.ค. 2567 16:56 น.

23 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดเป็น "วันวาฬและโลมาโลก" (World Whale and Dolphin Day) ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ หยุดคุกคาม ช่วยกันอนุรักษ์ท้องทะเล

วันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันวาฬและโลมาโลก (World Whale and Dolphin Day) จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1982 เพื่อต่อต้านการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ เนื่องจากในอดีต วาฬและโลมาเป็นหนึ่งในอาหารของประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเล รวมทั้งมีการใช้ไขมันมาผลิตเป็นเทียนไข 

แม้ว่าการล่าวาฬ และโลมา จะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อจำนวนประชากร จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1800 (หรือช่วงปี พ.ศ. 2343) ได้มีการพัฒนาเรือที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ ประกอบกับเครื่องมือในการล่าก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้จำนวนของสัตว์เหล่านี้ลดลงอย่างรวดเร็ว 

นอกจากการล่าของมนุษย์แล้ว ยังมีภัยคุกคามอื่นๆ จากการที่สัตว์เหล่านี้ติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ การปนเปื้อนของมลพิษทางทะเล มลภาวะทางเสียงจากการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม รวมไปถึงการส่งคลื่นเสียงหรือโซนาร์ (sonar) ที่ใช้ในทางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาวาฬ และโลมาบางชนิดทำให้เกิดการเกยตื้นหมู่ได้

วาฬและโลมาไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

วาฬและโลมา จัดเป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีหลักฐานว่าวิวัฒนาการมาจากสัตว์บกจำพวก Mesonyx ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหมาผสมหนู เมื่อประมาณ 45 ล้านปีมาแล้ว จากการศึกษาวาฬและโลมาที่มีชีวิตอยู่ทั่วโลกพบทั้งหมด 78 ชนิดใน 13 วงศ์ ปัจจุบันในประเทศไทยสำรวจพบวาฬและโลมา จำนวน 27 ชนิด จาก 5 วงศ์

จากข้อมูลพบว่า วาฬ และโลมา ชนิดที่มีการศึกษาในเชิงสถานภาพ มีการประมาณจำนวนประชากร และการแพร่กระจายจำกัดอยู่ในกลุ่มประชากรใกล้ฝั่ง 5 ชนิด ได้แก่ โลมาปากขวด โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก โลมาอิรวดี และวาฬบรูด้า 

ในปี 2565 สามารถสำรวจประเมินประชากรโลมาและวาฬในพื้นที่สำคัญ ได้จำนวน 2,310 ตัว ชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด คือ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ ร้อยละ 30.5 รองลงมาเป็น โลมาอิรวดีร้อยละ 29.4 โลมาหลังโหนกร้อยละ 26.7 โลมาปากขวดร้อยละ 10.8 และวาฬบรูด้าร้อยละ 2.6 

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และโลมาอิรวดี เป็นชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็น โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด และวาฬบรูด้า ตามลำดับ

และจากสถิติของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยข้อมูลรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมด 865 ตัว ดังนี้

  • โลมาและวาฬ 273 ตัว (ร้อยละ 31 )
  • พะยูน 24 ตัว (ร้อยละ 3)
  • เต่าทะเล 568 ตัว (ร้อยละ 66) 

รู้หรือไม่ "วาฬ" มีส่วนช่วยลดโลกร้อน

เป็นที่รู้กันว่า "วาฬ" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วาฬจึงเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่โตและมีประสิทธิภาพ โดยวาฬ 1 ตัว จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับต้นไม้ประมาณ 1,000 ต้น ซึ่งปกติวาฬจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 60 ปี ทำให้ในช่วงชีวิตหนึ่งของวาฬสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 33 ตัน ในขณะที่ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ 0.022 ตันต่อปีเท่านั้น

ดังนั้นพวกเราทุกคนจึงต้องร่วมกันอนุรักษ์วาฬ และโลมา โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงทะเล.

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

SHARE
02:26

นาทีช็อก! “หนุ่มจีน” ลื่นตกหน้าผา ระหว่างเดินป่าฝนตก กล้อง 360 องศา จับภาพนาทีเฉียดตายไว้ได้

Follow us

  • |