• Future Perfect
  • Articles
  • "ประเทศไทย" เตรียมเข้าสู่สภาวะ "ลานีญา" ส่งผลอย่างไรบ้าง ในครึ่งปีหลัง 2567

"ประเทศไทย" เตรียมเข้าสู่สภาวะ "ลานีญา" ส่งผลอย่างไรบ้าง ในครึ่งปีหลัง 2567

Sustainability

ความยั่งยืน3 ก.ค. 2567 13:00 น.
  • "กรมอุตุนิยมวิทยา" ประกาศประเทศไทยเตรียมจะเข้าสู่สภาวะ "ลานีญา"
  • ปรากฏการณ์ "ลานีญา" คืออะไร
  • ความแตกต่างระหว่าง "ลานีญา" กับ "เอลนีโญ" ต่างกันอย่างไรบ้าง

ภายหลังจาก "กรมอุตุนิยมวิทยา" ได้ออกมาประกาศว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ก.ย. 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วง ธ.ค. 2567 ถึง ก.พ. 2568 ส่งผลให้ครึ่งปีหลังของประเทศไทย มีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอุณหภูมิยังคงสูงกว่าค่าปกติ แต่มีแนวโน้มที่ฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิจะลดลงกว่าปีที่แล้ว

ลานีญา คืออะไร

อย่างที่หลายคนเข้าใจกันดีว่า "ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์คนละขั้วกับ "เอลนีโญ" โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง และตะวันออกเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากลมสินค้า (Trade Wind) มีกำลังแรงกว่าปกติ ทำให้น้ำทะเลที่อุ่นถูกพัดไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น 

ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำของฝั่งตะวันตกที่สูงกว่าฝั่งตะวันออกอยู่แล้วยิ่งสูงกว่าเดิม ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดเมฆฝนรุนแรง มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ ส่วนด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดภาวะแห้งแล้งกว่าปกติ

"ลานีญา" ต่างจาก "เอลนีโญ" อย่างไร

ทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลก บริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยเอลนีโญทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดขึ้นเฉลี่ย 5-6 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งกินเวลาราว 12-18 เดือน

ในทางกลับกัน ลานีญาทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักจะเกิดสลับกัน คือ เมื่อเกิดเอลนีโญแล้วจะเกิดลานีญาตามมา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี แต่ละครั้งกินเวลานานราว 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจอยู่นานถึง 2 ปี

เข้าสู่สภาวะ "ลานีญา" ช่วงเดือน ก.ค. 2567

น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์ปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์เอนโซอยู่ในสภาวะปกติ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเย็นลงเกือบทั่วทั้งบริเวณ สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างจากค่าปกติประมาณ -0.9 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส และคาดว่าปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกตินี้จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ก.ย. 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วง พ.ย. 2567 ถึง ม.ค. 2568

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศไทยตอนบนในเดือน ก.ค. / ส.ค. และ ต.ค. จะมีฝนมากกว่าปกติบางพื้นที่ ส่วนเดือนอื่นๆ จะใกล้เคียงค่าปกติ สำหรับภาคใต้จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติในช่วงเดือน ส.ค. ส่วนเดือนอื่นๆ จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย

สำหรับอุณหภูมิในช่วง ก.ค. / ส.ค. และ ต.ค. คาดว่าทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่า ค่าปกติ 0.2-1.0 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วง 3 เดือนหลัง คาดว่าทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้คาดว่า จะมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือน ก.ย. และ พ.ย. คาดว่า จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือน ต.ค. และ ธ.ค. คาดว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 

ลานีญากำลังจะมา โลกร้อนทำให้เกิด rain bomb

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเรื่อง "ลานีญากำลังจะมา โลกร้อนทำให้เกิด rain bomb มากยิ่งขึ้น" ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า 

"rain bomb เป็นคำใหม่ ไม่ถูกใช้เป็นทางการ แต่ความหมายทั่วไปคือฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากเป็นศัพท์ใหม่ จึงไม่มีการฟันธงว่านี่คือปรากฏการณ์ระเบิดฝนหรือไม่ แต่ว่าง่ายๆ คือเหมือนฟ้ารั่ว เนื่องจากน้ำจากฟ้าถล่มลงมาอย่างรุนแรงในช่วงแสนสั้น การรับมือแบบดั้งเดิมจึงมีปัญหา ผลกระทบจึงมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการทำมาหากินของพวกเรา ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไป เฉพาะช่วงนี้ก็มีทั้งน้ำท่วมภูเก็ต ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ภาพรถที่ลอยไปตามน้ำไหลหลากดูน่ากลัว จนบางคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสึนามิจากฟ้า

rain bomb อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกเดือด เพราะมหาสมุทรร้อน น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้นๆ หากตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมาในเมืองตามถนนหนทางที่กลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย หากตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก น้ำเข้าบ้านโดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง น้ำท่วมรถติดบนถนน ทำทรัพย์สินเสียหาย คำว่าบอมบ์หมายถึง เกิดฉับพลันแล้วหายไป น้ำท่วมแบบนี้จึงไม่นาน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

การคาดการณ์ล่วงหน้าทำแทบไม่ได้ในระยะยาว ปกติก็เป็นการทำนายทั่วไปในพื้นที่กว้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเรนบอมบ์กำลังมา ให้เอารถขึ้นที่สูง ป้องกันน้ำเข้าบ้านทุกวิถีทาง ฯลฯ เน้นย้ำว่าเป็นคำทั่วไป ไม่ใช่ศัพท์ทางวิชาการ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทำนายแบบเป็นทางการว่าจะเกิดเรนบอมบ์ ต่างจากทำนายสึนามิหรืออื่นๆ

สภาพอากาศสุดขีดแบบนี้จึงเป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลกในยุค 10 ปีต่อจากนี้ไป ตามที่ World Economic Forum ระบุไว้ ลานีญากำลังมา rain bomb อาจแฝงมากับสภาพฝนตกฟ้าคะนอง เพื่อนธรณ์เตรียมตัวรับมือกันบ้างหรือยังครับ ตัวอย่างการเตรียมตัวจากบ้านผม บ้านผมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีน้ำหลาก แต่เป็นแอ่งอยู่กลางเมือง น้ำท่วมง่าย จึงจ่ายตังค์ค่าระบบระบายน้ำในบ้านไปเยอะ มีกระสอบทรายเตรียมไว้กันน้ำจากถนนไหลเข้าเขตบ้าน มีอะไรเตรียมไว้อุดน้ำเข้าบ้านในช่วงสั้นๆ ของส่วนใหญ่ที่อยู่ในน้ำท่วมถึงได้ก็ไม่ค่อยแพง ยกง่ายหน่อย เตรียมคัตเอาต์ตัดไฟห้องชั้นล่าง ฯลฯ ส่วนรถผมไม่มีปัญหาเพราะโรงรถสูงกว่าถนนมาก น้ำไม่เคยท่วมถึงครับ น้ำท่วมแบบนี้เกิดแค่ 1-6 ชั่วโมง ไม่แช่นานครับ"

ขอบคุณเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา, Thon Thamrongnawasawat

SHARE
01:36

นาทีไฟไหม้บริษัทรถยี่ห้อดังสัญชาติญี่ปุ่น ควันดำทะมึน ลอยเหนือโรงงาน

Follow us

  • |