รู้หรือไม่ วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปี ถูกจัดให้เป็น "วันจระเข้โลก" (World Crocodile Day) เพื่อสร้างความตระหนักต่อจระเข้และอัลลิเกเตอร์ที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือภาพจำแห่งความน่ากลัว
แต่ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยในการคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ เป็นนักกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำสะอาด ส่วนหลุมที่จระเข้ขุดขึ้นไว้วางไข่ ก็ยังจะกลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าในฤดูแล้งให้สัตว์อื่นใช้ประโยชน์อีกด้วย
ความสำคัญของ "จระเข้" กับระบบนิเวศ
อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่า "จระเข้" นั้นถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยมีบทบาทสำคัญในการควบคุมประชากรของสัตว์อื่นๆ และยังสร้างถิ่นอาศัยให้สัตว์อื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ จระเข้ยังมีบทบาทสำคัญในการทำความสะอาดแหล่งน้ำ และเป็นนักกำจัดซาก ช่วยทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด โดยในแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป แต่การมีอยู่ของจระเข้ทุกสายพันธ์ุนับเป็นดัชนีที่บ่งชี้คุณภาพความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของป่า แม่น้ำ ลำธาร พื้นที่ชุ่มน้ำ
ข้อมูล "จระเข้" ที่ค้นพบในประเทศไทย
จระเข้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ เป็นสัตว์นักล่า อาศัยกึ่งบนบกกึ่งในน้ำ พบในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทุกทวีปทั่วโลก มีทั้งชนิดที่อาศัยในน้ำจืดและน้ำเค็ม อันดับจระเข้ครอบคลุมถึง วงศ์จระเข้ (Crocodylidae) วงศ์แอลลิเกเตอร์ และวงศ์ตะโขง (Gavialidae)
โดยในประเทศไทยพบจระเข้ 3 ชนิดคือ จระเข้น้ำจืดไทย พบตามแหล่งน้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม หรือจระเข้ปากแม่น้ำ พบตามแหล่งน้ำเค็มและน้ำกร่อย และตะโขง หรือจระเข้ปากกระทุงเหว
สำหรับ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Siamese crocodile) เป็นจระเข้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3–4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10–12 ปี วางไข่ครั้งละ 20–48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68-85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ชอบอยู่และหากินเดี่ยว
โดยปกติจระเข้น้ำจืด จะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวน หรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว
ปัจจุบันมีการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมีการสำรวจพบจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
แนวทางอนุรักษ์จระเข้ในไทย
สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นในการอนุรักษ์จระเข้ มีดังนี้
- การจัดการถิ่นที่อยู่ โดยปกป้องและฟื้นฟูแหล่งน้ำที่เป็นถิ่นที่อยู่ของจระเข้ไทย สร้างเกาะและพื้นที่วางไข่ที่ปลอดภัย ลดการรบกวนจากมนุษย์และกิจกรรมต่างๆ
- การควบคุมการล่า โดยบังคับใช้กฎหมายห้ามล่าจระเข้ไทยอย่างเคร่งครัด จัดทำระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังการล่าที่ผิดกฎหมาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อสร้างรายได้ทางเลือกให้ชุมชน
- การเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จัดตั้งศูนย์เพาะพันธุ์จระเข้ไทยเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร ปล่อยคืนจระเข้ที่เพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงกลับสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย เฝ้าติดตามและประเมินความสำเร็จของโครงการปล่อยคืน
- การวิจัยและการศึกษา ดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรม ชีววิทยา และถิ่นที่อยู่ของจระเข้ไทย จัดทำแผนการจัดการประชากรและการอนุรักษ์ที่ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ความรู้และสร้างการตระหนักในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์จระเข้ไทย
- การมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างความตระหนักในหมู่ชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์จระเข้ไทย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องถิ่นที่อยู่และเฝ้าระวังการล่า จัดตั้งกลุ่มผู้พิทักษ์จระเข้ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือในการอนุรักษ์
- การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน จัดตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานเฉพาะกิจ เพื่อประสานงานความพยายามในการอนุรักษ์ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับคำแนวทางการอนุรักษ์กล่าวมานั้น ก็เป็นเพียงแค่คำแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งก็หวังว่าทุกคนจะตะหนักรู้ถึงความสำคัญของ "จระเข้" ร่วมถึงร่วมกันอนุรักษ์จระเข้ในไทย เพื่อไม่ให้สูญพันธ์ุไปจากระบบนิเวศของเราด้วย.
อ้างอิงข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มูลนิธิสืบนาคเเสถียร, นิตยสาร National Geographic Thailand