• Future Perfect
  • Articles
  • ปลัด มท. แบ่งปันความสำเร็จของการนำ SDGs สู่การปฏิบัติในพื้นที่ประเทศไทย

ปลัด มท. แบ่งปันความสำเร็จของการนำ SDGs สู่การปฏิบัติในพื้นที่ประเทศไทย

Sustainability

ความยั่งยืน13 มิ.ย. 2567 14:15 น.

"ปลัดกระทรวงมหาดไทย" แบ่งปันความสำเร็จของการนำ SDGs "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" สู่การปฏิบัติในพื้นที่ของประเทศไทย พร้อมนำร่องใน 15 จังหวัด

วันที่ 13 มิ.ย. 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ความสำเร็จของการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ตามโครงการ SDG Localization ใน 15 จังหวัด" ในงานสัมมนา "มุมมองท้องถิ่น : การเสริมสร้างการบริหารจัดการท้องถิ่นและการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในท้องถิ่นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนคนทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันความสำเร็จของการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การปฏิบัติในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ดังเช่นการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ในจังหวัดนำร่องทั้ง 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา กรุงเทพฯ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU 

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเร่งผลักดันขยายผลการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 61 จังหวัด ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของพวกเราชาวมหาดไทย "โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ นำ SDGs สู่พี่น้องประชาชนทั้ง 7,255 ตำบล มากกว่า 75,000 หมู่บ้าน ใน 7,849 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยในการขับเคลื่อน SDGs ครอบคลุมทั่วประเทศ เกิดจากปรากฏการณ์ที่สำคัญของคนมหาดไทยทั่วประเทศ ในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา" โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้โลกใบเดียวได้มีอายุยืนยาว ด้วยรูปแบบวิธีการทำงานที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 

1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มจากการเป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนข้าราชการและกลไกมหาดไทยในระดับพื้นที่ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ ความตื่นตัว ปลุกระดมให้เกิด passion ปลุกไฟแห่งอุดมการณ์การทำงานให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนอย่างไม่มีวันหยุด เพราะชีวิตของข้าราชการมหาดไทย ต้องทุ่มเทเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงเพื่อประชาชน ช่วยกันหนุนเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามด้านต่างๆ

2. การสร้างเครือข่ายการทำงานระดับหน่วยงาน ด้วยการสร้างทีม 7 ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมฝึกอบรมและใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้หลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง : MOI SMART Agent for CAST) ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง (MOI CAST) ทีมจังหวัด (P(Province)CAST) ทีมอำเภอ (D(District)CAST) ทีมตำบล (T(Tambon)CAST) และทีมหมู่บ้าน (V(Village)CAST) รวมจำนวนกว่า 300,000 คน เป็นกำลังของสังคมไทยในการพัฒนาทุกมิติ เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกัน ทั้งการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยมี War Room เป็นศูนย์อำนวยการและประสานงานกลางการขับเคลื่อนการพัฒนา 

3. การสร้างระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อชี้เป้า สำรวจ ติดตาม หนุนเสริม การดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM ที่เคยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จในการดูแลประชาชนอย่างดีเยี่ยม และภายหลังจากสิ้นสุดสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย จึงได้นำแพลตฟอร์มนี้มาเป็นเครื่องมือในการบันทึกฐานข้อมูลพี่น้องประชาชน 15 ล้านครัวเรือน จาก 23 ล้านเลขที่บ้านตามทะเบียนบ้าน

4. การถ่ายทอดส่งต่อแนวทางการพัฒนาไปยังคนรุ่นต่อไป ด้วยการนำตัวอย่างความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทำงาน ขั้นตอน วิธีการ รูปแบบ ตลอดจน Best Practice ถ่ายทอดไปสู่ข้าราชการ พนักงาน บุคลากร ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญ เป็นพลเมืองที่ดีที่จะรับสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดความยั่งยืน

ทางด้าน นางฝาหรีดะฮ์ มุเส็มสะเดา กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริก ภายใต้การนำของ นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก มุ่งมั่นในการนำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในด้านการขับเคลื่อน SDGs สู่การปฏิบัติงานเพื่อบริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ซึ่งแต่เดิมเทศบาลตำบลปริกจะทำงานแค่ตามอำนาจหน้าที่ (Routine Job) แต่เราเห็นความสำคัญดังที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่า ทั้ง 17 เป้าหมายคือประโยชน์ที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน เราจึงเริ่มต้นด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแนวคิดระเบิดจากข้างใน มาพัฒนาในทุกมิติ

ขณะที่ Mr.Christophe Bahuet กล่าวว่า UNDP ได้ศึกษาประสบการณ์ทำงานด้วย Local Lens ทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญ และจากการทำงานร่วมกับ 15 จังหวัดนำร่อง SDG Localization สะท้อนให้เห็นความพร้อมของ อปท. และประชาชนที่สามารถเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์อื่นๆ ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และยังพบว่าการสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน.

SHARE

Follow us

  • |