วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นโลกปัจจุบัน วันสิ่งแวดล้อมโลก มีประวัติความเป็นมา และมีความสำคัญอย่างไร "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" นำสาระความรู้มาฝากกัน
ประวัติ "วันสิ่งแวดล้อมโลก"
วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) คือ วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ หลังมีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลก ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ.2515
การประชุมในครั้งนั้นมีการจัดทำร่างข้อเสนอปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ และแผนดำเนินการต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,300 คนทั่วโลก จาก 113 ประเทศ ทั้งจากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนนักศึกษา และสื่อมวลชนจากทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการหารือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม ซึ่งก็คือวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก"
ความสําคัญ "วันสิ่งแวดล้อมโลก"
สืบเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มนุษย์เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มี "วันสิ่งแลดล้อมโลก" ขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักและตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการวางเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
คำขวัญ วันสิ่งแวดล้อมโลก 2567
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงฯ เผยว่า องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ ตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจดำเนินกิจกรรมที่ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ คือ Land Restoration, Desertification & Drought Resilience และคำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์ ได้แก่ "Our land. Our future. We are #GenerationRestoration." โดยกำหนดเป็นคำขวัญภาษาไทยว่า "พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤติภัยแล้ง"
ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการฟื้นตัวจากภัยแล้ง เนื่องจากโลกกำลังเผชิญวิกฤติทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติมลพิษและของเสีย ที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น คน พืช สัตว์ ในทุกมิติก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้นการปรับตัวต่อภัยแล้งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม รวมถึงการฟื้นฟูที่ดิน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ชุมชนและสังคมสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน.