• Future Perfect
  • Articles
  • ศธ. จับมือ การไฟฟ้าฯ ลงนามติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา

ศธ. จับมือ การไฟฟ้าฯ ลงนามติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา

Sustainability

ความยั่งยืน29 พ.ค. 2567 14:50 น.

"กระทรวงศึกษาธิการ" จับมือ การไฟฟ้าฯ ลงนาม MOU ติดตั้ง "ระบบผลิตไฟฟ้า" จาก "พลังงานแสงอาทิตย์" ในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีผู้บริหารของ ศธ. ได้แก่ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าการธุรกิจการไฟฟ้านครหลวง รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์และการจัดการพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการใช้พลังงานทดแทน สำหรับผลิตไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา ทั้งรูปแบบติดตั้งบนหลังคา หรือบนพื้นดิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในสถานศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของสถานศึกษา และเป็นการจัดหาพลังงานแก่สถานศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา และเป็นการเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้แก่นักเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการบริหารจัดการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาวะการใช้งาน ให้แก่สถานศึกษา หรือส่วนราชการในสังกัด และหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา หรือส่วนราชการในสังกัด และหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและบรรลุผลสัมฤทธิ์ ตามแนวทาง "จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน" เพื่อให้ทุกพื้นที่ "เรียนดี มีความสุข" อย่างถ้วนหน้า.

SHARE

Follow us

  • |