หมดยุค "โลกร้อน" เข้าสู่ "โลกเดือด" คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเอาจริง ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 30% ภายใน 8 ปี
วันที่ 24 พ.ค. 2567 ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลังเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations) ที่ออกมาประกาศว่าปัจจุบันโลกของเราได้สิ้นสุดยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling)
เมื่อพูดถึง ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็หมายถึงน้ำที่เดือดปุดๆ เหมือนอยู่บนไฟตลอดเวลา และโลกเดือด จะส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของโลกไม่ว่าจะ มนุษย์, สัตว์ หรือ ธรรมชาติ เช่น อุณหภูมิความร้อนสูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ, กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มทำงานกลางแจ้ง ที่อาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ รวมถึงอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร
ทั้งนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่ากลัว และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้หลายภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในคณะ พบว่าจากข้อมูลปี 2565 คณะวิศวฯ จุฬาฯ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 2,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศว่าจะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์เมื่อปี 2565 ทางคณะวิศวฯ จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเหลือ 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าในปี 2030 และเตรียมมาตรการสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี.