พัชรวาท สั่งกรม ทช. และกรม อส. กำหนดแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน พร้อมกำหนดพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ห่วงใยวิกฤติพะยูน สั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กำหนดแนวทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน และกำหนดพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันจากสภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเกิดการเสื่อมโทรมและสูญหายเป็นจำนวนมาก พะยูนบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง จำนวนพะยูนที่เพิ่มมากขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่น ยังไม่มีการปรับตัวที่ดีพอ ประกอบกับปริมาณการสัญจรทางน้ำและกิจกรรมประมงที่มีมากในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพังงา ส่งผลให้พะยูนมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงมากขึ้น จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กำหนดพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่
1. อ่าวตังเข็น ภูเก็ต
2. อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต
3. อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา
4. เกาะหมาก พังงา
5. ช่องหลาด เกาะยาว พังงา
6. อ่าวท่าปอม กระบี่
7. อ่าวนาง กระบี่
8. อ่าวน้ำเมา กระบี่
9. เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่
10. เกาะลันตา กระบี่
11. แหลมไทร กระบี่
12. เกาะยาวใหญ่ใต้ พังงา
โดยมีมาตรการดังนี้
1. หากมีการพบเห็นพะยูนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อ ทช. และ อส. จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากของ ทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่
2. ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก โดยขอความร่วมมือให้งดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล โดยให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 นอต และไม่เกิน 20 นอต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน
3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็ก ดูแลเฝ้าระวังเครื่องมือประมงขณะทำการอย่างต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงการทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว.