รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งติดตามสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ขณะที่ กรมอุทยานฯ เร่งปิดพื้นที่ห้ามรบกวน ล่าสุดพบปะการังฟอกขาว ในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง
วันที่ 9 พ.ค. 2567 ตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้แสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โดยขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลรักษาระบบนิเวศที่สำคัญของท้องทะเลไทยนั้น
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานการสำรวจ ติดตามการเกิดปะการังฟอกขาว ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล จากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1-5 ซึ่งสาเหตุการเกิดปะการังฟอกขาวนั้น เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมน้ำทะเลผิดปกติ เช่น น้ำทะเลร้อน มีคราบน้ำมัน มีตะกอนทับถมในปะการัง หรือปะการังผึ่งแห้งเป็นเวลานานเมื่อน้ำทะเลลงต่ำสุด
ทั้งนี้ จึงส่งผลให้ปะการังเกิดความเครียดที่สูง และทำให้ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวออกจากตัวปะการัง (สาหร่ายซูแซนเทลลี zooxanthellae) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของปะการัง และทำให้ปะการังมีสีสันด้วย เมื่อสูญเสียสาหร่ายดังกล่าวไป ปะการังเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและกลายเป็นสีขาวโพลน หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ปะการังจะตายทันที
สำหรับพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลมี 12 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2567) ดังนี้
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
- อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
- อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
- อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
- อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
- อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
- อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี
- อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
ทางด้านพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการฟอกขาวมากกว่า 50% ขึ้นไป มีดังนี้
1. อุทยานแห่งชาติหาดวนกร บริเวณเกาะจานทิศตะวันตก ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80%
2. อุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณเกาะปลิง ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80% (ดำเนินการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว)
3. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
3.1 เกาะคราม ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 70%
3.2 เกาะง่ามน้อย ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 60%
3.3 เกาะง่ามใหญ่ ปะการังมีการฟอกขาวในพื้นที่มากกว่า 80%
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในขณะเกิดการฟอกขาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีแนวทางและมาตราการในการป้องกันการเกิดปะการังฟอกขาว คือการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่างๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลายลง.