• Future Perfect
  • Articles
  • ลานีญาคืออะไร แนะไทยติดตามสถานการณ์ วางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงปลายปี

ลานีญาคืออะไร แนะไทยติดตามสถานการณ์ วางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงปลายปี

Sustainability

ความยั่งยืน29 เม.ย. 2567 17:00 น.

จากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อัปเดตสถานการณ์เอลนีโญ ประจำเดือนเมษายน 2567 ว่าปัจจุบันประเทศไทยนั้นอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในขณะที่ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ และคาดว่าปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนนี้ จะอ่อนลงและเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 60 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

แน่นอนว่าช่วงการเปลี่ยนสภาวะเหล่านี้ย่อมส่งผละกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั้งในเรื่องของอุณภูมิโลก ปริมาณฝนและพายุ รวมระดับน้ำในทะเล และอื่นๆ อีกมากมาย ที่อาจส่งผลกระทบถึงภาคการผลิตของเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องวางแผนเตรียมรับมือ

ลานีญา คืออะไร

อย่างที่หลายคนเข้าใจกันดีว่า "ลานีญา" เป็นปรากฏการณ์คนละขั้วกับเอลนีโญ โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง และตะวันออกเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากลมสินค้า (Trade Wind) มีกำลังแรงกว่าปกติ ทำให้น้ำทะเลที่อุ่นถูกพัดไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น 

ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำของฝั่งตะวันตกที่สูงกว่าฝั่งตะวันออกอยู่แล้วยิ่งสูงกว่าเดิม ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดเมฆฝนรุนแรง มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ ส่วนด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดภาวะแห้งแล้งกว่าปกติ

"ลานีญา" ต่างจาก "เอลนีโญ" อย่างไร

ทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลก บริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยเอลนีโญทำให้เกิดฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเกิดขึ้นเฉลี่ย 5-6 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งกินเวลาราว 12-18 เดือน

ในทางกลับกัน ลานีญา ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักจะเกิดสลับกัน คือ เมื่อเกิดเอลนีโญแล้วจะเกิดลานีญาตามมา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี แต่ละครั้งกินเวลานานราว 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจอยู่นานถึง 2 ปี

สภาวะลานีญา ส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลก

น้ำทะเลที่เคลื่อนตัวจากฝั่งตะวันออกนั้น ทำให้มีการก่อตัวสะสมของเมฆฝนในระหว่างทางจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์นี้ที่ทำให้เกิดฟ้าฝนคะนอง โดย ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และประเทศทางฝั่งโซนเอเชียจะมีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักติดต่อกัน และน้ำท่วม

ส่วนทางฝั่งแปซิฟิกตะวันออก บริเวณชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ เปรู ที่เป็นจุดสำคัญ มีการไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่างขึ้นไปยังผิวน้ำซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวแห้งแล้งเกิดการความผันผวนของอากาศในฝั่งอเมริกา และอเมริกาใต้

ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อเปลี่ยนผ่านจาก "เอลนีโญ" ไปสู่ "ลานีญา"

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC และประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC เผยถึง การเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญ ไปสู่ลานีญาที่กำลังเกิดขึ้นช่วงกลางปีนี้ และคาดว่าปลายปีจะเข้าสู่ ลานีญา (ระดับปานกลาง) โดยระบุว่า อุณหภูมิที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีจะลดลงตั้งแต่กลางปีไปถึงปลายปี แต่ความหวังเรื่องของฝนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

การคาดการณ์ล่วงหน้าปริมาณฝนช่วงต้นฝน (เม.ย.-พ.ค.) ทุกแบบจำลองให้ผลสอดคล้องกันว่าไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดู ถึงปลายฤดู ปริมาณฝนจะเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปบริเวณ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไม่ค่อยได้ฝนมากนัก

แนวทางวางแผนบริหารจัดการน้ำ ช่วงสภาวะลานีญา

ทั้งนี้ ดร.เสรี ยังได้เผยอีกว่า เกษตรกรควรวางแผนความเสี่ยง โดยการเลื่อนระยะเวลาปลูกข้าวนาปีไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ช่วงปลายปี อาจจะทำให้มีบางพื้นที่ฝนตกหนัก (ในเวลาจำกัด) ทำให้เกิดน้ำท่วมรอการระบาย หรือพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางพายุจร

ซึ่งคาดการณ์ว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีจำนวนพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 จากเฉลี่ย 20 ลูก และพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นประมาณ 10 จาก เฉลี่ย 13 ลูก อนึ่งการคาดการณ์ฝนล่วงหน้ามีความไม่แน่นอน จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมบริหารความเสี่ยงด้วย หากมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่จะเกิดขึ้น.

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, กรมอุตุนิยมวิทยา, มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |