22 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ "วันคุ้มครองโลก" แนวทางลดพลาสติก กู้วิกฤติโลกเดือด ร่วมมือกันผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ วันคุ้มครองโลก ตามประกาศของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program : UNEP) เพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในเครือข่ายกว่า 193 ประเทศทั่วโลก ประสานงานผ่านเว็บไซต์ส่วนกลางในชื่อ Earthday.org
ขณะที่ประเทศไทยได้มีการจัดให้มีการรณรงค์วันคุ้มครองโลกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยในปีนี้ ได้ประกาศแนวคิดธีม "Planet VS Plastics: ลดพลาสติก กู้วิกฤติโลกเดือด" เพื่อรวบรวมปริมาณพลาสติก ที่เก็บรวบรวมได้นำมาคำนวณในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลาสติกจากกระบวนการผลิต ร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2040 และเรียกร้องนโยบายเพื่อยุติ Fast fashion ซึ่งก่อให้เกิดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้นแต่มีอายุการใช้งานสั้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและวัสดุที่เป็นนวัตกรรมเพื่อทดแทนพลาสติก
เนื่องจาก "ขยะพลาสติก" ถือเป็นปัญหามลพิษที่ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญ เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายตามธรรชาติค่อนข้างนาน บางชิ้นใช้เวลานานนับร้อยปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการใช้พลาสติก แต่ปัจจุบันก็ยังมีการนำมาใช้งานในด้านต่างๆ
โดยส่วนใหญ่เป็น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) เป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 200 ปี เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้วน้ำ และยังมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์
แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ เราทุกคนรู้กันดีว่า ปัญหาขยะพลาสติกนั้นส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะไม่สามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้
ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนในการจัดการขยะพลาสติก ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม จึงร่วมกันแสดงพลังความร่วมมือในการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เนื่องในวันคุ้มครองโลกปีนี้ ประกอบด้วย
1. ภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านกาแฟในประเทศ จำนวน 31 บริษัท รวม 9,530 ร้าน/สาขา ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Coffee Shop) ส่งเสริมการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ และการบริโภควิถีใหม่ ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
2. หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ทุกจังหวัด ร่วมรณรงค์เนื่องในวันคุ้มครองโลก ภายใต้แนวคิด "Planet VS Plastics: ลดพลาสติก กู้วิกฤติโลกเดือด" เพื่อรวบรวมปริมาณพลาสติก ที่เก็บรวบรวมได้นำมาคำนวณในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
3. เครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของกรมฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ พร้อมใจร่วมมือลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประกอบด้วย เครือข่าย ทสม. เครือข่ายโรงเรียนและชุมชนปลอดขยะ เครือข่ายเด็กและเยาวชน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคุ้มครองโลก ปี 2567 นี้ จะจัดงานแบบปลอดคาร์บอน
โดย สส. ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดกิจกรรมเก็บขยะป่าชายเลน ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมเก็บขยะป่าชายเลน รวบรวมขยะพลาสติก และคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจก
รวมถึงให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่ได้กลับมาเข้าสู่ระบบนิเวศในสภาวะปกติได้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการอนุบาลสัตว์ทะเล และเพิ่มให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวคิด 4 ป.
นอกจากนี้ยังได้แนะนำแนวคิด 4 ป. เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ดังนี้
ปฏิเสธ พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ปรับ พฤติกรรมใช้พลาสติกให้คุ้มค่าที่สุด
เปลี่ยน ไปใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ
แปลง ร่างเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก (ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycling) โดยใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า
ข้อมูลจาก แฟนเพจ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม