• Future Perfect
  • Articles
  • ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ เพื่อความยั่งยืน

ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ เพื่อความยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน20 เม.ย. 2567 15:14 น.

ปลัด มท. ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ขยายผลความสำเร็จในการจัดตั้ง "ธนาคารขยะ" พร้อมผนึกกำลังผู้นำในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

วันที่ 20 เมษายน 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ ภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนา ระหว่างสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร

โดยสามารถดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,773 แห่ง จำนวนมากถึง 14,658 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในงานประกาศความสำเร็จฯ ดังกล่าว ได้มีการมอบแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธนาคารขยะเป็นกลไกการจัดสวัสดิการ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน

ภายใต้การขับเคลื่อนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย จนสามารถจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ได้มากถึง 14,658 แห่ง ครบทุก อปท. และกระทรวงมหาดไทยกับ UN ประจำประเทศไทยได้ประกาศความสำเร็จไปแล้วที่ สำนักงาน UN ไทยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567

ดังนั้น เพื่อขยายผลการจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกตำบล หมู่บ้าน จึงได้ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คัดเลือกธนาคารขยะที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีที่สุดของจังหวัด ทำคลิปเผยแพร่แนวทางการดำเนินการ และแนวทางการดูแลสวัสดิการให้คนในชุมชนของแต่ละแห่ง

เพื่อให้ประชาชนทั้ง 878 อำเภอ 7 พันกว่าตำบล 8 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ได้เห็นตัวอย่างธนาคารขยะที่ดีที่สุดของแต่ละจังหวัด และนำไปพัฒนาการส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมมนุษย์ 3Rs : Reuse Reduce Recycle เป็นจิตอาสา ที่ช่วยคัดแยกขยะนำขยะรีไซเคิล ไปสู่การจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกตำบล รวมทั้งศึกษาแนวทางการนำเงินรายได้ไปดูแลชุมชน เพื่อพิจารณานำไปใช้ โดยปัจจุบันพบว่า ธนาคารขยะที่ตั้งแล้วทั่วประเทศมีรายได้ รวม 1,006,365,417.48

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามการดำเนินงานธนาคารขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจากการรายงานผ่านระบบ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และจากการลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

พบว่าในหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการดำเนินการบริหารจัดการธนาคารขยะ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และเป็นการสะท้อนถึงพลังการมีส่วนร่วม ของพี่น้องประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะ จนเรียกได้ว่าเป็น Masterpiece ของพื้นที่จังหวัด

นอกจากนี้ ในการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการขยะ การคัดแยกขยะด้วยการจัดทำ "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" เป็นอีกผลการดำเนินสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ร่วมกับทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้รับการรับรองคำนวณคาร์บอนเครดิต ทำให้สามารถขายคาร์บอนเครดิต เป็นเงินหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน

โดยในเฟสแรก เราสามารถคำนวณเป็นการลดคาร์บอนเครดิตได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (tCO2eq) สามารถขายได้เป็นเงิน จำนวน 816,400 บาท โดยการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งในเฟสที่ 2 สามารถลดได้กว่า 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (tCO2eq) หากเปรียบเทียบแล้ว

เราจึงคาดว่าในปี 2022-2026 จะสามารถลดได้ถึง 1,875,443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งได้ลดลงมากกว่าเป้าหมายของ NDC ในปี 2030 กว่า 1.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) เปรียบเสมือนกับการปลูกต้นไม้ 155 ล้านต้นอีกด้วย ซึ่งในปี 2567 จะมีการทวนสอบเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตทั้ง 76 จังหวัด ให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2567

เพื่อเป็นการขยายผล สร้างการรับรู้ตัวอย่างความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) และการบริหารจัดการขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการคัดเลือกธนาคารขยะต้นแบบที่เป็น Masterpiece ของจังหวัด แล้วทำหน้าที่ Ambassador นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จ ร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด

โดยลงพื้นที่ธนาคารขยะต้นแบบ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำสื่อสร้างการรับรู้ในรูปแบบ "วิดีโอถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อนธนาคารขยะ" ที่ทำให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดและพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นถึงแนวทางไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งธนาคารขยะ

อาทิ ปัจจัยความสำเร็จในการจัดตั้ง การจัดรูปแบบสวัสดิการ ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดกับชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิดีโอดังกล่าว ผ่านทางช่องทาง YouTube ของจังหวัด หรือช่องทางต่างๆ ให้กับประชาชน และภาคีเครือข่ายได้รับรู้รับทราบ

ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกท่าน ที่ร่วมกันแสดงพลังแห่งการเป็นผู้อุทิศแรงกายแรงใจ "Change for Good" ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ร่วมกันทำให้ภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บังเกิดผลสำเร็จ ครอบคลุมทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ ซึ่งสิ่งที่เป็น Masterpiece of Success เกิดขึ้นได้เพราะเรามี "ผู้นำที่ดี" ที่มีความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และกล้านำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนตามแนวทาง "ผู้นำต้องทำก่อน" อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย

จึงขอให้ทุกท่าน ช่วยกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเอาแนวทาง Masterpiece ไปขับเคลื่อนขยายผลในทุกพื้นที่ ทุกช่องทางสื่อสาร ทุกรูปแบบวิธีการ เพื่อพวกเราจะได้ช่วยกันทำหน้าที่เป็น Salesman ขยายองค์ความรู้และวิธีการ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีเป็นแรงผลักดัน ให้เกิดการขับเคลื่อนธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ แบบ Momentum for Change ที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศต่อไป.

SHARE

Follow us

  • |