สวทช. พัฒนา "ฉลากอัจฉริยะ" ช่วยระบุระดับความสุก "มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง" เพื่อช่วยลดการเกิดขยะอาหาร
เฟซบุ๊ก NSTDA - สวทช. ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า หนึ่งในผลไม้จากประเทศไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติสูงจนขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจ คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่มีจุดเด่น คือ ผลใหญ่ เปลือกสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด รสชาติหวาน แต่ด้วยมะม่วงสายพันธุ์นี้มีเปลือกสีเหลืองครีมตั้งแต่เริ่มสุกบนต้นหรือระยะที่ยังไม่พร้อมรับประทาน ทำให้แยกระดับความสุกจากการสังเกตสีเปลือกมะม่วงได้ยาก ผู้บริโภคจึงอาจพลาดโอกาสในการลิ้มรสมะม่วงในช่วงอร่อยที่สุดไป
นักวิจัยไทย จึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าการส่งออก โดย นาโนเทค ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. พัฒนาเซนเซอร์ระบุความสุกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในรูปแบบ สติกเกอร์ฉลากอัจฉริยะสำหรับแปะผลไม้ มีลวดลายเป็นวงกลม 2 ชั้น วงในเป็นตำแหน่งของเซนเซอร์ตรวจจับปริมาณก๊าซเอทิลีนซึ่งจะมีสีเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความเข้มข้นของก๊าซหรือระดับความสุกของผลไม้ ส่วนวงนอกเป็นแถบสีสำหรับดูเปรียบเทียบระดับความสุก
สำหรับฉลากอัจฉริยะที่ทีมพัฒนาขึ้นระบุความสุกของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ 3 ระดับ ดังนี้
- สีเขียวอ่อนอมเทา หมายถึง สุกน้อย มีรสชาติเปรี้ยว
- สีเขียวอ่อน หมายถึง ระดับสุกปานกลาง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน
- สีเขียวเข้ม หมายถึง ผลไม้สุกพร้อมรับประทาน มีรสชาติหวาน โดยทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแล้ว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลด้านการตลาดไว้เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันต่างประเทศกำลังมีความต้องการฉลากอัจฉริยะสูงขึ้น ทั้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลไม้และลดการเกิดขยะอาหารจากการบริหารจัดการสินค้าที่ไม่เหมาะสม IMARC Group บริษัทด้านการวิจัยตลาดต่างประเทศประมาณการไว้ว่า 'ความต้องการฉลากอัจฉริยะจะสูงขึ้นในปี 2567-2575' ด้วยค่า CAGR (compound annual growth rate) ที่ร้อยละ 11.4 หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.96 แสนล้านบาท) ในปี 2567 เป็น 2.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 ล้านล้านบาท) ในปี 2575
อย่างไรก็ตาม จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเริ่มลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลไม้ไทย โดยปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมเปิดรับโจทย์การวิจัยฉลากอัจฉริยะระบุความสุกของผลไม้ชนิดอื่นๆ ตามโจทย์ของผู้ประกอบการแล้ว.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก NSTDA - สวทช.