- รู้จัก "แอมโมเนีย" สารเคมีที่มีใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท หากเกิดรั่วไหล อันตรายแค่ไหน
- แนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ที่สูดดม หรือสัมผัสแอมโมเนีย ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
จากกรณีการรั่วไหลของสารแอมโมเนียอย่างรุนแรง ภายในโรงงานน้ำแข็งราชา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจุดเกิดเหตุมีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตร มีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนีย ซึ่งใช้ในการผลิตน้ำแข็ง ชาวบ้านสูดดม เกิดอาการหายใจไม่ออก ต้องนำส่ง รพ.กว่า 140 คน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพผู้คนให้อยู่ห่างในรัศมีเกือบ 1 กม. ก่อนเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา
รู้จัก "สารแอมโมเนีย"
สำหรับ "แอมโมเนีย" มีการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตคาโปรแลคตัม การผลิตน้ํายางข้น และเป็นสารทําความเย็นในการผลิตน้ําแข็งและห้องเย็น เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า มีอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย หลายต่อหลายครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ระบบทำความเย็นในห้องเย็น และโรงงานผลิตน้ำแข็ง สาเหตุของการรั่วไหลส่วนใหญ่ก็มาจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด ไม่มีขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย และขาดการบำรุงรักษาที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สารแอมโมเนีย เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสารกัดกร่อนผิวหนัง ดวงตา ปอด และระบบการหายใจ ซึ่งแก๊สมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เข้าสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้รับอันตราย ซึ่งในกรณีที่ได้รับปริมาณน้อย จะมีอาการไอ หลอดลมตีบ แต่หากได้รับสารในปริมาณมาก หรือเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการทางเดินหายใจส่วนบนบวม ไหม้ หรืออุดกั้น จนเกิดเสียงผิดปกติขณะหายใจเข้าได้ ซึ่งในบางกรณีอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำลายปอด
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายมักพบอาการอื่นๆ ร่วม ได้แก่ กล่องเสียงอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, หายใจดังวี้ด, หอบเหนื่อย, เจ็บหน้าอก, น้ำท่วมปอด, ปอดอักเสบ, ขาดออกซิเจน หากสัมผัสผิวหนัง จะทำให้ระคายเคืองและไหม้ได้ หากสัมผัสตา จะทำให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ น้ำตาไหล ระคายเคืองกระจกตา ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ อาการระยะยาว ผู้ที่สัมผัสแก๊สเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย การทำงานปอดผิดปกติ

"แอมโมเนีย" รั่วไหล ต้องทำอย่างไร
หากเกิดการรั่วไหลของแก๊สแอมโมเนียในปริมาณน้อย เริ่มแรกให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณที่รั่วไหลเป็นระยะทาง 30 เมตร ในเวลากลางวัน และ 100 เมตรในเวลากลางคืน หรือหากมีการรั่วไหลในปริมาณมาก ให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณรั่วไหลเป็นระยะทาง 150 เมตร ในเวลากลางวัน และ 800 เมตร ในเวลากลางคืน
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุก่อนถึงโรงพยาบาล ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปยังที่ที่อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้าๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าบางชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูกระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่ ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที แต่ในกรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอด ล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
- กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสตา ให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมากๆ โดยเปิดน้ำไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
- กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่
- กรณีหายใจเอาแอมโมเนียเข้าไป ควรรีบเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุไปไว้ในที่อากาศถ่ายเท ถ้าผู้ประสบเหตุหายใจอ่อน ให้ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ นาน 2 นาที แต่ไม่เกิน 15 นาที แต่หากหัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มหัวใจทันที
- กรณีกลืนกินแอมโมเนีย ให้บ้วนปากด้วยน้ำมากๆ และดื่มน้ำ 1 แก้ว และทำให้อาเจียนโดยใช้ยาขับเสมหะหรือวิธีการล้วงคอ
อย่างไรก็ตาม ในรายที่หมดสติ ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที และหากอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของแอมโมเนีย ให้เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมใช้งานเสมอ
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
หากแอมโมเนียมีการระบายลงสู่แหล่งน้ำ จะมีผลต่อสัตว์น้ำโดยตรง ทำให้เสียชีวิต ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง วงจรโซ่อาหารในระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำเครื่องมือในการติดตามเข้าตรวจสอบการปนเปื้อนของแอมโมเนียในสิ่งแวดล้อมหลังเกิดเหตุ โดยเร็วที่สุด