• Future Perfect
  • Articles
  • รวมวิธีจัดการขยะหลัง "เทศกาลสงกรานต์" ทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา

รวมวิธีจัดการขยะหลัง "เทศกาลสงกรานต์" ทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา

Sustainability

ความยั่งยืน15 เม.ย. 2567 23:11 น.

อย่างที่ทราบกันดีว่า เทศกาลแห่งความรื่นเริงต่างๆ เป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบ เพราะได้ใช้เวลาในการปลดปล่อยความเครียด และหาความสุขจากการรวมตัวสังสรรค์ โดยเฉพาะ "เทศกาลสงกรานต์" ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในช่วงเวลาแห่งความสุข ที่ทุกคนต่างตั้งตารอคอย เพื่อทำกิจกรรมกับครอบครัว และเล่นน้ำอย่างสนุกสนานกันในช่วงหน้าร้อน เดือนเมษายนของทุกปี 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่หลงเหลือจากการทำกิจกรรมในช่วงการละเล่นสาดน้ำกัน คือ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน สังเกตได้จากสถานที่ยอดฮิตต่างๆ ที่มีคนเดินทางไปเล่นน้ำกัน เราก็มักจะพบกับขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนตามพื้นถนน ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม, เศษพลาสติก, ขวดแก้ว และเศษอาหาร หรือแม้แต่ ปืนฉีดน้ำและขันที่ถูกทิ้ง หรือลืมไว้ตามสถานที่ต่างๆ จนคุ้นชินตา

ดังนั้น การจัดการขยะหลังเทศกาลสงกรานต์ จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่างๆ จะต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มจัดงาน แต่การแก้ปัญหาดังกล่าว ก็บทบาทหน้าที่ของเราทุกคนในสังคมที่จะต้องช่วยกัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

รวมวิธีจัดขยะที่เกิดขึ้นในช่วง "เทศกาลสงกรานต์"

คัดแยกขยะก่อนทิ้ง

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น จะมีปริมาณขยะเพิ่มจำนวนมาก ดังนั้นเราก็ควรที่จะเลือกทิ้งขยะให้เหมาะสม โดยการแยกประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้าย และนำไปจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป โดยวิธีง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้นั้นคือ "การแยกขยะก่อนทิ้ง" ดังนี้ 

  • ถังขยะสีเขียว ทิ้งขยะอินทรีย์ ขยะเปียกที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผัก เนื้อสัตว์ เศษใบไม้แห้ง สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ต้นไม้ แปลงผักสวนครัวได้ เป็นต้น
  • ถังขยะสีเหลือง ทิ้งขยะรีไซเคิล หรือขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งได้ เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ เป็นต้น
  • ถังขยะสีน้ำเงิน ทิ้งขยะทั่วไปที่มักจะย่อยสลายไม่ได้ หรือย่อยสลายยากแต่ไม่เป็นพิษ และไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล เช่น ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ภาชนะปนเปื้อนอาหาร กระดาษชานอ้อย เป็นต้น
  • ถังขยะสีแดง ทิ้งขยะอันตรายที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ เช่น สารพิษ วัตถุติดเชื้อได้ วัตถุกัดกร่อน เช่น ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น

ในกรณีที่ถังขยะเต็ม ไม่สามารถทิ้งลงถังได้แล้ว แนะนำให้รวบรวมขยะใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้เรียบร้อย และวางในจุดที่ตั้งขยะมูลฝอย โดยอาจเขียนหรือติดป้ายกำกับไว้ เพื่อให้พนักงานที่จะมาเก็บขยะ ทราบสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างใน เพื่อง่ายต่อการนำไปจัดการต่อ

ไม่ทิ้งของเสีย ไขมัน และขยะลงสู่พื้นที่สาธารณะ

ขอความร่วมมือร้านค้า หรือร้านอาหารต่างที่จัดงาน ไม่ให้ทิ้งของเสีย ไขมันและขยะลงสู่พื้นที่สาธารณะ เช่น วัด สวนสาธารณะ หรือสวนน้ำ โดยให้ทิ้งขยะในภาชนะที่จัดเตรียมไว้

เปลี่ยน "ปืนฉีดน้ำ" ที่ใช้ไม่ได้ให้กลายเป็น "เชื้อเพลิง RDF"

แน่นอนว่าอุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิต ที่หลายคนจะต้องมีนั้นก็คือ ปืนฉีดน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่อ่อนไหวต่อการใช้งาน หรืออาจจะผุพังไปตามกาลเวลาได้

หากเรามีปืนฉีดน้ำหมดสภาพ ก็สามารถนำไปขายเป็นพลาสติกให้ร้านของเก่านำไปรีไซเคิลได้ หรือจะส่งไปเป็นขยะกำพร้า เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ต่อไปได้เช่นกัน โดยสามารถส่งไปได้ที่ N15 Technology บริษัทกำจัดของเสียและขยะ โดยวิธีบดย่อยเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม จากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นแนวทางแนะนำในการจัดการขยะเท่านั้น แต่แน่นอนว่าทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงเทศกาลอื่นๆ คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับคนที่เข้าร่วมงาน

โดยต้องตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของการทิ้งขยะให้เป็นที่ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบทางสร้างแวดล้อมที่สร้างมลพิษต่อโลกของเรา.

SHARE

Follow us

  • |