มท.1 ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะร่วมกับ UN และ ทส. มุ่งมั่นร่วมกันเป็นหุ้นส่วนบริหารจัดการขยะครัวเรือน
วันที่ 5 เม.ย. 67 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (The Success of Thailand's Waste Bank Partnership Initiative) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการรวมตัวของ Partner หรือ "หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เป็นการนำ Soft Power สู่ Hard Power ด้วยพลังของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ซึ่งเราได้ร่วมกันทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญ จนประสบความสำเร็จ คือ "การจัดตั้งธนาคารขยะครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย เนื่องจากปัจจุบันโลกของเราไม่เพียงแต่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "สภาวะโลกร้อน" แต่ความรุนแรงของปัญหานี้ได้ยกระดับไปถึงขั้น "โลกเดือด และหายนะทางสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย คือ "การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050" และ "การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065"
ดังนั้น ในปีนี้เราจึงได้ขับเคลื่อนอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญ คือ "การจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เพื่อนำขยะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้กลับไปสู่กระบวนการใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง นี่คือการ "ลดปริมาณภูเขาขยะ" ขนาดใหญ่ในประเทศที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถสร้างรายได้ สร้างสวัสดิการให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยสิ่งที่สำคัญของกระบวนการบริหารจัดการขยะ คือ "การจัดการขยะต้นทาง" ที่จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะของประเทศ และนำสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ได้ และต้องอาศัย "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ในชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆ ของรัฐบาล และจะต้องมีความต่อเนื่องจึงจะเกิดความยั่งยืน
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันปัญหาขยะเป็นวิกฤติสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นวิกฤติโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น การขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรและยั่งยืน และจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา กล่าวว่า UN มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนร่วมกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ไปลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค ซึ่งเห็นความสำเร็จได้จาก อบต.โก่งธนู เราได้ไปเยี่ยมชมชาวบ้านและได้เรียนรู้การบริหารจัดการขยะในระดับท้องถิ่น ซึ่งชุมชนต่างมีการบริหารจัดการขยะได้ดีมาก มีการจัดตั้งธนาคารขยะ มีการจัดทำปุ๋ยอินทรีย์จากการถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำมาซึ่งการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.กสิกรไทยในรับซื้อคาร์บอนเครดิต อันเป็นตัวอย่างของการที่ประเทศไทยมุ่งมั่นนำแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาใช้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงการใช้กฎหมายเพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องร่วมกันบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เริ่มจากที่ตัวเราและครัวเรือน หาก 14 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยทำได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ธนาคารขยะจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนได้รับประโยชน์ โดย UN พร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนร่วมกับประเทศไทย เพื่อให้บรรลุความสำเร็จตาม SDGs
คุณกีตาร์ ซับบระวาล กล่าวว่า วันนี้เป็นการประกาศความสำเร็จของการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งผู้นำที่มาในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดมา โดย UN ตระหนักยิ่ง และพร้อมจะร่วมมือขยายผลสิ่งที่ดีให้ทุกชุมชนได้รับประโยชน์จากการการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม นำขยะเปลี่ยนเป็นมูลค่าหมุนเวียนกลับไปพัฒนาชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีคิดคำนวณคาร์บอนเครดิต ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศจะสามารถสนับสนุน และหวังว่าเราจะประสานความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ รวมถึงความสำเร็จของการมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน มีปัจจัยแห่งความสำเร็จ Key Success ที่สำคัญ คือ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่เป็นกำลังสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่าย จนทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งการคัดแยกขยะครัวเรือนใน 14 ล้านครัวเรือน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับสนับสนุนรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมมูลค่า 816,400 บาท ตลอดจน บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน ทำให้ปัจจุบันเราได้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตแล้วกว่า 2.5 ล้านบาท ปัจจุบันเราสามารถจัดตั้งธนาคารขยะ 14,658 แห่ง ครบทุก อปท. ทำให้ทุกหมู่บ้านใน 878 อำเภอ 76 จังหวัดมีตัวอย่างที่ดี "Best Practice" ขยายผลไปสู่หมู่บ้านครัวเรือนเพิ่มเติม.