- รู้หรือไม่ 80% ของขยะทะเลมาจากขยะบนบก และอีก 20% มาจากทะเลโดยตรง
- เปิดระยะเวลาการย่อยสลายของขยะทะเล ต้องใช้เวลากี่สิบปี กี่ร้อยปี จึงย่อยสลาย
- แนะ 7R แนวทางช่วยลดปริมาณขยะ เริ่มได้จากที่ตัวเรา
หลายคนอาจจะมองว่า "ขยะในทะเล" เป็นเรื่องไกลตัว แต่สุดท้ายแล้วผลกระทบของขยะในทะเลก็จะย้อนกลับมาสู่สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ทะเล และระบบนิเวศน์
ขยะทะเล ก็คือ ผลิตภัณฑ์จากมนุษย์ที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ทั้งเจตนาและไม่เจตนาทิ้งขว้าง แล้วถูกกระแสลม หรือกระแสน้ำพัดลงสู่ทะเล รวมทั้งวัตถุที่สูญหายในทะเลในขณะที่สภาพอากาศเลวร้าย เช่น เครื่องมือประมง สินค้าในเรือขนส่ง โดย 80% ของขยะในทะเลมาจากขยะบนบกที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง และอีก 20% มาจากทะเลโดยตรง เช่น กิจกรรมการประมง การเดินเรือ
และรู้หรือไม่ว่า ขยะส่วนใหญ่ในทะเลนั้นล้วนเป็น "ขยะพลาสติก" ซึ่งบรรดาขยะเหล่านี้กว่าจะย่อยสลายต้องใช้ระยะเวลานาน บางชนิดใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานนับร้อยปี
ขยะทะเล มหันตภัยร้ายฆ่าชีวิต
ผลกระทบสัตว์ทะเลหายาก : ขยะทะเล เช่น ถุงพลาสติก อาจทำให้สัตว์ทะเลคิดว่าเป็นแมงกะพรุน จนเผลอกลืนกินเข้าไป ทำให้อุดตันในระบบทางเดินอาหาร สัตว์เกิดความเจ็บปวด ทรมาน และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ขยะทะเลยังอาจพันรัดร่างกาย ทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ พิการ ไม่สามารถหาอาหารกินได้ และจมน้ำเสียชีวิตได้
ผลกระทบต่อระบบนิเวศ : ปะการังถูกขยะทับถมทำให้ชิ้นส่วนปะการังแตกหัก เกิดความเสียหาย ชายหาดสกปรก ปกคลุมไปด้วยขยะ ขยะทับถมรากต้นไม้ในป่าชายเลน ส่งผลให้ต้นไม่ในป่าชายเลนอ่อนแอ และตายได้
ผลกระทบต่อมนุษย์ : ขยะทะเลเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แหล่งสะสมสารเคมี สารพิษ ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว สูญเสียแหล่งท่องเที่ยวและรายได้
ระยะเวลาการย่อยสลายของขยะทะเล
- กระดาษทิชชู 2-4 สัปดาห์
- เศษผลไม้ 2 เดือน
- ก้นบุหรี่ 1-5 ปี
- ถุงพลาสติก 1-20 ปี
- แผ่นไม้อัด 1-3 ปี
- เศษอวน เอ็นตกปลา 600 ปี
- ขวดน้ำพลาสติก 450 ปี
- หลอดพลาสติก 200 ปี
- แก้วน้ำพลาสติก 50 ปี
- กระป๋องอะลูมิเนียม 50 ปี
- ขวดแก้ว ยางรถยนต์ และกล่องโฟม ไม่ย่อยสลาย
แม้ว่าขยะพลาสติกบางชิ้นอาจจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่บางชนิดอาจย่อยสลายจนกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" ชิ้นเล็กๆ แล้วไปปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ รวมถึงห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล และย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เองจากการบริโภค หรือดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีไมโครพลาสติกกระจายอยู่เต็มไปหมด
นอกจากนี้ยังพบว่า ไมโครพลาสติก สามารถส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายประการในระยะยาว เช่น รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ BPA ยังอาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ มีผลกระทบถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย แล้วทั้งมีผลกระทบต่อเด็กทำให้มีพัฒนาการลดลง
นอกจากนี้ ไมโครพลาสติก ยังทำให้เกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะไมโครพลาสติกอาจปล่อยสารพิษ หรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
ประเภทของพลาสติก 7 ประเภท
1. พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE) เป็นพลาสติกพอลิเมอร์ใส เนื้อเหนียว ทนทานต่อแรงกระแทก มีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี ส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มต่างๆ
สามารถนำมารีไซเคิลกลับมาเป็นขวดเครื่องดื่ม ขวดน้ำยาซักผ้า ฟิล์มใส รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ พรม เส้นใยสังเคราะห์ เสื้อกันหนาวได้ ฯลฯ
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) พลาสติกชนิดนี้มีความหนาแน่นสูง โปร่งแสงน้อยกว่าพอลิเอทิลีน ทนกรดและด่าง น้ำหนักเบา แต่ทนทาน ป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ผลิตเป็นขวดนม บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ถุงพลาสติก ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี ฯลฯ
สามารถรีไซเคิลได้ง่าย ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็นโต๊ะปิกนิก ม้านั่ง ท่ออ่อน รั้ว กล่องขนาดใหญ่ ฯลฯ
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) จะเป็นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร แต่ป้องกันไขมันได้ดี ส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตท่อน้ำประปา หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์การแพทย์
สามารถรีไซเคิลเป็นกรวยจราจร ท่อน้ำประปา ม้านั่งพลาสติก
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) มีลักษณะเป็นพลาสติกโปร่งแสง ที่มีปริมาตรสูง แต่ความหนาแน่นต่ำ นิยมนำไปใช้ในการผลิตถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม ถุงใส่ของ และสายหุ้มทองแดง
การนำไปรีไซเคิลได้ยากมาก เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้ เป็นพลาสติกที่น้ำหนักเบา แต่ก็สามารถรีไซเคิลให้ออกมาเป็นถุงพลาสติกแบบบาง พลาสติกแร็ป ถุงดำ ถุงขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
5. พอลิโพรพิลีน (Polypropylene : PP) เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ทนความร้อนสูง นิยมนำไปใช้ในการผลิตฉนวนไฟฟ้า บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด
เมื่อพลาสติกชนิดนี้ ผ่านกระบวนการรีไซเคิล ก็จะออกมาเป็นรูปแบบของถุงร้อนใส่อาหาร หรือแก้วพลาสติกแบบแข็ง
6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส เปราะบาง แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร ราคาไม่แพง ผลิตได้ง่าย และเหมาะกับการใช้ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะนำมาผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาชนะ เช่น ถ้วย จาน และกล่องโฟม
สามารถรีไซเคิลได้ กลับมาเป็น จาน แผงไข่ไก่ หรือเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
7. พลาสติกอื่นๆ (Other) พลาสติกชนิดอื่นๆ คือพลาสติกที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก หรืออาจจะเป็นการนำพลาสติกแต่ละชนิดมาผสมกัน เช่น พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) เป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หากถูกนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี
หากนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของขวดน้ำ กล่อง และถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ เฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง ฯลฯ
7R วิธี ช่วยลดปริมาณขยะ
1. Recycle คัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปแปรรูป หมุนเวียนกลับมาใช้อีกครั้ง
2. Return อุดหนุนสินค้าที่สามารถคืนบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ผลิตได้
3. Reuse นำของที่มีอยู่กลับมาใช้จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน
4. Reduce ลดการใช้ ด้วยการพกของใช้ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณขยะ
5. ReFuse ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกและโฟม รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่สร้างมลพิษ
6. Repair ของใช้บางอย่าง หากเสียแล้วซ่อมได้ก็ควรซ่อม และใช้ให้คุ้มก่อนทิ้ง
7. Refill เลือกใช้สินค้าชนิดเดิมที่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ของเราเองได้
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง