• Future Perfect
  • Articles
  • "เชียงใหม่" จมฝุ่น ขึ้นอันดับ 1 เมืองมลพิษโลก แพทย์แนะเลี่ยงออกนอกบ้าน

"เชียงใหม่" จมฝุ่น ขึ้นอันดับ 1 เมืองมลพิษโลก แพทย์แนะเลี่ยงออกนอกบ้าน

Sustainability

ความยั่งยืน26 มี.ค. 2567 14:33 น.

เชียงใหม่อ่วม ขึ้นอันดับ 1 เมืองมลพิษโลกอีกครั้ง ช่วงบ่ายวันนี้ คาดจากไฟป่าในพื้นที่ รวมถึงลมที่หอบเอากลุ่มควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้าน

วันที่ 26 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณภาพอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤติอีกครั้ง เมื่อปริมาณฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นในชั่วข้ามคืนจนทำให้ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ IQAir พบว่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 174 AQI US โดยสอดคล้องกับค่าฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในเกณฑ์สีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในทุกพื้นที่ สูงสุดที่ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 349 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสาเหตุที่ฝุ่นควันกลับมาหนาแน่นอีกครั้ง เนื่องจากไฟป่ากลับมาปะทุมากขึ้นนับร้อยจุด อีกส่วนหนึ่งยังมาจากกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดหอบเอากลุ่มควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดฮอตสปอต เมื่อวานนี้กว่า 2,700 จุด เข้ามาสมทบ

ขณะที่บรรยากาศตามท้องถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ตลอดทั้งวัน ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่นควัน จนทำให้ดอยสุเทพ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดปริมาณฝุ่นของคนเชียงใหม่หายไปจากสายตาอีกครั้ง สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่สูดดมฝุ่นควันจนเลือดกำเดาไหล คือ ประชาชนทุกกลุ่ม แต่กลุ่มที่เปราะบางเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ, สตรีมีครรภ์, ผู้ป่วยกลุ่มโรคประจำตัวด้านทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ที่อาจกระตุ้นอาการกำเริบ และบางคนที่ใช้ยาการป้องกันการแข็งตัวของเลือด รวมถึงผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว และใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

ด้าน รศ.พญ.กรรณิการ์ รุ่งโรจน์วัฒนศิริ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะนำประชาชนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในช่วงฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานและใช้เครื่องฟอกอากาศในที่พักอาศัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยกลุ่มโรคประจำตัวด้านทางเดินหายใจ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เพราะเสี่ยงทำให้เลือดกำเดาไหล และมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขอบคุณข้อมูลจาก iqair.com

SHARE

Follow us

  • |