"กลุ่มมิตรผล" เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมส่งต่อความยั่งยืนจาก "ภาคเกษตร" สู่สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการแก้ไข "ภาวะโลกร้อน"
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผลที่เราให้ความสำคัญและลงมือปฏิบัติจริงมาโดยตลอด ซึ่งจากการที่กลุ่มมิตรผลเติบโตมาจากภาคเกษตร ทำให้เราตระหนักเป็นอย่างดีว่าภาคอุตสาหกรรมนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบการเกษตร จนถึงผู้บริโภค เราจึงใช้แนวคิดร่วมอยู่ ร่วมเจริญ (Grow Together) ในการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่แรก และปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมยกระดับให้เทียบเท่ามาตรฐานโลกในหลากหลายมิติ ด้วยการใช้ความรู้ด้านการวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับโลกที่กลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนขององค์กร (CSA)
ซึ่งเป็นเกณฑ์การประเมินแบบเดียวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการประเมินผล Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดย S&P Global เช่นเดียวกัน ซึ่งจากการเข้าร่วมการประเมิน ทำให้เราเห็นโอกาสในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานในมิติต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถพัฒนาอันดับได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากอันดับ 17 ในการเข้าร่วมการประเมินครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน จนได้รับอันดับ 2 ในปีที่แล้ว และอันดับ 1 ในปีนี้ โดยแนวคิดเบื้องหลังการพัฒนางานด้านความยั่งยืนทั้งหมดนี้คือความเชื่อที่ว่าเราไม่สามารถเติบโตบนโลกนี้ได้เพียงลำพัง เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการพัฒนาภาคเกษตรไทยให้เป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานทดแทนที่มั่นคง รวมถึงโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมต่อไป
สำหรับการประเมิน S&P Global ในปีนี้ กลุ่มมิตรผลได้คะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 (Top 1%) และยังทำคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม สำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มมิตรผลมีความโดดเด่นจากการดำเนินงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน หรือ Climate Actions ที่ได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรที่มีการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 และได้มีการยื่นการดำเนินงานอย่างเป็นทางการกับ Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่กำกับการดำเนินงานด้าน Net Zero
กลุ่มมิตรผลมีแผนงานที่ครอบคลุม และมีการปฏิบัติที่เห็นผลจริงได้อย่างชัดเจน จากการดำเนินงานของอุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นับเป็นคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Complex) ผ่านการรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีแนวทางดำเนินการหลัก คือ
1. การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 185,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
2. ระบบบริหารจัดการน้ำเสียที่นำเทคโนโลยีการบำบัดแบบตะกอนเร่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาใช้แทนระบบเดิม ทำให้สามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
3. การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลได้รับจากการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอุทยานมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ รวมถึงโรงงานในกลุ่มมิตรผลให้ก้าวสู่การเป็น Carbon Neutral Complex และขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ลดคาร์บอน ครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินงานภายในโรงงาน กลุ่มซัพพลายเชน การชดเชยการปล่อยคาร์บอน ไปจนถึงการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างพันธมิตรในการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มมิตรผลยังได้รับผลการประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกลุ่ม Food & Beverage Process จาก CDP (Carbon Disclosure Project) ในระดับ B ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในระดับ C โดย CDP เป็นองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญต่อโลก และยังเป็นองค์กรที่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้ความเชื่อมั่นมากที่สุดองค์กรหนึ่งของโลกอีกด้วย
สำหรับด้านสังคม กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ มีทักษะ สามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ด้านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผ่านการถ่ายทอดแนวทางการทำไร่สมัยใหม่ "มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม" ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมการบริหารจัดการ มาผสมผสานให้เป็นแนวทางทำเกษตรที่แม่นยำ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงรับซื้อใบอ้อยหลังตัดเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล และเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกร ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผา อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย และสร้างกลุ่มอาชีพให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิตรผล ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG Goals) ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2050 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขภาวะโลกร้อนของประเทศไทย และนานาประเทศทั่วโลก.