ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ดฯ ผนึกกำลัง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ ยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านโครงการ "วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ"
บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกับ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ” ประจำปี 2567 (One Suntory Mizuiku Program 2024) เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของทั้งสองบริษัทฯ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ผ่านการจัดกิจกรรม "ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ" และ การประกวด "โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ" ประจำปี 2567 ตลอดจนกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้แก่คนในพื้นที่และเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทฯ ได้มีส่วนร่วม
นางสาวณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และอินโดไชน่า กล่าวว่า ซันโทรี่ ริเริ่มโครงการ "มิซุอิกุ" ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2547 ก่อนจะขยายไปในอีกกว่า 8 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในภาษาญี่ปุ่น "มิซุ" หมายถึง "น้ำ" และ "อิกุ" หมายถึง "การให้ความรู้" โครงการมุ่งส่งเสริมให้คนในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอนให้ทุกคนเข้าใจบทบาทของตนเองที่สามารถมีส่วนร่วมอนุรักษ์น้ำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อไป
โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ครบรอบ 20 ปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ "มิซุอุกิ" ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ที่จะร่วมกันดำเนินโครงการ "วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ" ประจำปี 2567 เพื่อร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้และสานต่อกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติทางสังคม ตอกย้ำค่านิยมองค์กรของเรา คือ "การเติบโตอย่างยั่งยืน" (Growing for Good) และ "การตอบแทนกลับคืนสู่สังคม" (Giving Back to Society)
โครงการ "วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ" ประจำปี 2567 ได้รับเกียรติจากภาคีภาครัฐร่วมเป็นพันธมิตร ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผนึกกำลังกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education Centre) องค์กรที่มุ่งหวังในการส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกันขับเคลื่อนพันธกิจในการจุดประกายให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ซึ่งรูปแบบกิจกรรมหลัก ได้แก่
- กิจกรรม ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ คัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาในจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ระยองและชลบุรี รวมทั้งสิ้น 30 โรงเรียน โดยมีแกนนำนักเรียน ตัวแทนคุณครู และพนักงานจิตอาสาจากทั้งสองบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 4 - 6 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดระยอง เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เข้าใจวัฏจักรของน้ำ และปัญหาของน้ำที่พบในท้องที่ ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจําวัน
- การประกวด โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ โดยหลังจากจบกิจกรรมค่ายฯ ทางโครงการฯ มีเงินสนับสนุนให้โรงเรียนละ 10,000 บาท เพื่อให้เสนอแผนงานและแข่งขันดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในโรงเรียน ให้ครอบคลุม 4 ด้าน คือด้านนโยบาย ด้านบุคลากร ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการขยายผลสู่ชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “มิซุอิกุ คลับ” เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ
- คัดเลือก 1 โรงเรียนต่อจังหวัดเป้าหมาย เป็น "โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ" และได้เดินทางไปดูต้นกำเนิดโครงการ "มิซุอิกุ" ณ ประเทศญี่ปุ่น
ด้าน นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะ "น้ำ" คือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งต่อทุกชีวิต บริษัทฯ จึงขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ "มิซุอิกุ" ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งถือเป็นบริษัทลำดับที่สอง ในเครือ ซันโทรี่ กรุ๊ป ที่ดำเนินโครงการ "มิซุอิกุ" นอกประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันเริ่มต้นของโครงการฯ จนถึงปัจุบัน หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ เยาวชน ชุมชน และพนักงานในบริษัทของเรา เพราะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมหลายหน่วยงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาในการส่งมอบองค์ความรู้เรื่องความสำคัญของทรัพยากรน้ำ โดยมีนักเรียนกว่า 20,250 คน จาก 345 โรงเรียน เข้าร่วมโครงการ "มิซุอิกุ"
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมอบเงินทุนให้แก่โรงเรียนเพื่อบูรณาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในมิติต่างๆ ของโรงเรียน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านกิจกรรม "อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ" อาทิ การสร้างฝาย ปลูกหญ้าแฝกและฟื้นฟูระบบนิเวศของป่า พร้อมกันนี้เรายังเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ปี จากการปลูกฝังความรู้สู่การลงมือปฏิบัติ ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย
ด้าน นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ คือการกำกับ ควบคุม อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้งนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมให้ความรู้และกระตุ้นจิตสำนึกของเยาวชนในการอนุรักษ์น้ำ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมฯ เนื่องด้วย กรมฯ เล็งเห็นว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะต้องเร่งปลูกฝังและเสริมสร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเยาวชนเป็นอนาคตของชาติและจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานของโครงการ "มิซุอิกุ" ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องกับภารกิจดังกล่าวของกรมทรัพยากรน้ำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในปี 2567 นี้ เราจะยังให้ความร่วมมือและเดินหน้าสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ เพื่อร่วมปลูกจิตสำนึกที่ดีในหมู่เยาวชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
ส่วน นายวัฒน์ ทาบึงกาฬ เลขานุการกรม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจในการเสนอแนะและจัดทำนโยบาย แผน และมาตรการ เกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ในการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ ในการสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพ
กรมฯ มีบทบาทในการสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน โดยในด้านทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนและส่งเสริมแนวทางการดูแลรักษาแม่น้ำคูคลอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาด้านการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำผ่านกิจกรรมมากมาย ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนโครงการ "วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ" ทั้งในส่วนของข้อมูลและองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรม เพื่อร่วมสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งพันธมิตรภาครัฐ ดร.ชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดการและควบคุมมลพิษทางน้ำโดยตรง กรมควบคุมมลพิษตระหนักดีว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สิ่งแรกที่ควรเน้นย้ำและปลูกฝังคือทัศนคติและองค์ความรู้ของผู้คน โดยเฉพาะกับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองของสังคม โดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของน้ำ การอนุรักษ์น้ำในชีวิตประจำวัน โครงการวัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ ประจำปี 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะของเยาวชนในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำในโรงเรียนและชุมชนของตน รวมถึงปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย นายอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาให้ความสำคัญกับการทำงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติร่วมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ "ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ" จะช่วยให้เยาวชนในพื้นที่มีความเข้าใจว่าการดำรงชีวิตของตัวเอง สร้างผลกระทบอะไรให้กับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการดูแลสิ่งแวดล้อมในสังคมของเยาวชน ซึ่งกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาเด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ ด้วยแนวคิดการเรียนรู้แบบการลงมือทําจริงที่สอดแทรกความสนุกสนาน โดยมีผมเป็นผู้นำกิจกรรม พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอีกหลายท่าน ภายใต้คอนเซปต์ "ไม่มีน้ำ ไม่มีเรา" เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของน้ำในทุกมิติ.