• Future Perfect
  • Articles
  • เผยแนวทางสร้าง "อนาคตที่ยั่งยืน" ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการไทย

เผยแนวทางสร้าง "อนาคตที่ยั่งยืน" ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการไทย

Sustainability

ความยั่งยืน25 มี.ค. 2567 08:00 น.
  • กระแสของการท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างยั่งยืน เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน
  • ทำความรู้จักกับ STGs เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย
  • เผยสิ่งผู้ประกอบการไทยควรคำนึง เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

อย่างที่หลายคนทราบกันว่า "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" ในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้มหาศาล และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบัน ความยั่งยืน เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นกระแสของการท่องเที่ยวและการเดินทางอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ผู้ประกอบการหันลงทุนกับกิจกรรมที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการบิน การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และการปรับปรุงระบบทำความร้อนและเย็นในโรงแรม เป็นต้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการ ททท. ได้เผยถึงการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ในงาน "RETHINK SUSTAINABILITY : A Call to Action for Thailand" โดยธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ร่วมกับลอมบาร์ด โอเดียร์

โดยระบุว่า การที่นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศมาก เฉพาะในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วอย่างเป็นทางการ คิดเป็นเกือบ 13% ของประเทศ สร้างผลดีให้กับเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อม

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของการลงทุน ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นธรรม บางครั้งมีการลงทุนเข้าไปทำลายวิถีชีวิตของสังคมพื้นบ้าน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพสังคมที่เกิดขึ้น อาทิ การจราจรที่ติดขัดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นผลกระทบจากการลงทุน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพสังคม โดยค่าเฉลี่ย 90% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เข้ามาเพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมสภาพ คงไม่มีใครอยากเดินทางมาท่องเที่ยว

ในปี 2021 จากสถิติ WEF Travel & Tourism Development Index 2021 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 36 เพราะเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้นคนไทยจึงควรให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัย เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่อง sustainability ซึ่งการที่จะทำให้ประเทศไทยอันดับสูงขึ้น นั้นคือการเป็นส่วนหนึ่งของ STGs (Sustainable Tourism Goals)

รู้จักกับ STGs เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คำว่า STGs ย่อมาจาก Sustainable Tourism Goals หรือ เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการยกระดับ และสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย โดยได้พัฒนามาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่ง STGs ได้ถูกปรับให้เข้ากับบริบทการท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วยเป้าหมายในการดำเนินงาน 17 เป้าหมาย ดังนี้

  • STG 1 ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ผ่านการนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามากระจายสู่ระดับชุมชน
  • STG 2 ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : จากการจัดหาในท้องถิ่นสู่การจัดการของเสีย
  • STG 3 ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สนับสนุนความปลอดภัยด้านสุขภาพ สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกช่วงวัย
  • STG 4 เสริมสร้างการศึกษาด้านการท่องเที่ยว : ความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • STG 5 ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกเพศในทุกธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
  • STG 6 สร้างหลักประกันในการเข้าถึงน้ำสะอาด การจัดการน้ำ และสุขาภิบาลที่ยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว
  • STG 7 เพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาดในภาคการท่องเที่ยว
  • STG 8 สร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจท้องถิ่น
  • STG 9 ส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาสินค้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • STG 10 ลดความเหลื่อมล้ำของการจ้างงานสำหรับผู้พิการ และคำนึงถึงความเท่าเทียมของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
  • STG 11 ความยั่งยืนและน่าอยู่ของแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน
  • STG 12 ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของการท่องเที่ยว
  • STG 13 มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว และส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • STG 14 ส่งเสริมและกำกับดูแลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
  • STG 15 ส่งเสริมและกำกับดูแลระบบนิเวศบนบกและน้ำจืด
  • STG 16 การคำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว
  • STG 17 การบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน

3 แกนหลัก ที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึง

สำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นายยุทธศักดิ์ ได้เผยถึง 3 แกนหลัก ที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Protect Environment) และ การรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของสังคมให้ยั่งยืน (Save Social) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่อยู่บนบรรทัดฐานของความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Sustainability จะต้องเป็น Soft Power และต้องเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน Future Growth ของการท่องเที่ยว ตอนนี้มันมีความต้องการเรื่องความยั่งยืนมากมาย ถ้าเรายังนิ่งอยู่กับที่ ไม่ให้ความสําคัญการลงทุนที่มองในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน มันมีความต้องการของการเติบโตมหาศาล การที่จะเอาคนมาท่องเที่ยวเฉยๆ ไม่พอถ้าไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับใช้ โดยเริ่มมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการจองที่พัก (Online Travel Agency: OTAs) ยักษ์ใหญ่บางเจ้า เริ่มจำแนกประเภทที่พักหรือบริการการเข้าพักแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งรายเล็ก และใหญ่ต้องปรับตัว

ในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็มีการริเริ่มจัดโครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยการให้มาตรฐานดาวแห่งความยั่งยืน กับผู้ประกอบการ มากกว่า 10 ประเภทกิจการ ภายใต้ STGs (Sustainable Tourism Goals) หรือ STAR : (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ที่ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน

ซึ่งถอดมาจาก SDGs ของ UNWTO ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 555 แห่ง โดยผู้ประกอบการประเภทโรงแรมที่พักเข้าร่วมมากที่สุด โดยภาครัฐจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของการส่งเสริมเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม 

ต้องทำอย่างไรเพื่อเดินหน้าไปสู่ "ความยั่งยืน" มากขึ้น

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า Sustainability ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ แน่นอนเราพูดถึงความยั่งยืน ยกตัวอย่างตอนนี้ ตอนเจอสถานการณ์โควิดเข้าไป นักท่องเที่ยว 40 ล้าน หรือ 4 แสน ธุรกิจอยู่ลำบากมาก แต่ตอนนี้พอทุกอย่างกลับมา ตั๋วเครื่องบินก็แพง มันอาจจะไม่เหมือนกับภาคการผลิตที่วิทยากรหลายคนพูดถึง CBAM หรืออะไรก็ตาม แต่จะเร็วจะช้าต้องมาแน่นอน

จะเห็นได้จากเว็บไซต์ต่างๆ เริ่มที่จะพูดถึงเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เริ่มมีการถามหน่วยงานที่รองรับว่าท่านทำอะไรที่เกี่ยวกับความยั่งยืนหรือไม่ เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คำว่า Sustainbility ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของบริษัทที่เขียนไว้สวยหรูโดยที่ไม่ทำอะไรจริงๆ วนกลับมาอยู่ที่ 3 pillars of Sustainability ก็คือ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า Clean.

SHARE

Follow us

  • |