• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จัก "กัลปังหา" ไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล

รู้จัก "กัลปังหา" ไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล

Sustainability

ความยั่งยืน19 มี.ค. 2567 20:23 น.

 

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งอย่ารบกวน "กัลปังหาแดง" โผล่พ้นน้ำ ที่เกาะสุกร จ.ตรัง ชี้เป็นการรบกวนการอาหารและดำรงชีวิต
  • "กัลปังหา" ไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก 
  • ค่านิยมผิดๆ หลายคนลักลอบตัด "กัลปังหา" ประดับตู้ปลา ทำเป็นของตกแต่ง รวมทั้งเครื่องรางของขลัง 

เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมาก หลังจากกรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" ที่โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปีมีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้ง ที่เกาะสุกร จ.ตรัง เนื่องจากจะเป็นการรบกวนการอาหารและการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้

ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า "กัลปังหา" นั้นเป็นพืชใต้ทะเล แต่แท้จริงแล้ว "กัลปังหา" หรือ "Sea Fan" เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา 

และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้และ จะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน 

กัลปังหา สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้ กัลปังหา ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน 

และจากการที่ กัลปังหานั้นมีสีสันสวยงาม จึงมีคนนำลักลอบตัดนำมาประดับตู้ปลา ตกแต่งบ้าน รวมไปถึงความเชื่อในเรื่องการนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง รวมทั้งมีความเชื่อว่า กัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่า แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่สามารถรับรองได้เลยว่ากัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ 

ที่สำคัญคือ กัลปังหา เป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเข้า-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอบ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

นอกจากมีโทษตามกฎหมายแล้ว การทำลายกัลปังหายังส่งผลต่อระบบนิเวศอีกด้วย เพราะถือว่าเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ทำให้สัตว์ขนาดเล็กไม่มีที่หลบภัยจากนักล่าจึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ ขณะที่ตัวของกัลปังหาเองก็เจริญเติบโตได้ช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต ดังนั้นถ้าเราอยากมีทะเลสวยๆ ก็ไม่ควรทำลายกัลปังหา รวมไปถึง ปะการัง ดอกไม้ทะเล และสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย

สำหรับเทคนิคการดำน้ำชมปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้น้ำ ทางศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แนะนำข้อปฏิบัติ ดังนี้

1. ใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนักให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันการจมลงไปกระแทกแนวปะการัง

2. พยายามว่ายน้ำในแนวราบเสมอ รักษาระยะตามองข้างหน้าหรือก้มลง ตัวอยู่ห่างจากแนวปะการังพอควรเพื่อป้องกันเมื่อกระแสน้ำแรงอาจจะพัดร่างกายไปกระแทกปะการังได้ อย่าพลิกตัวหรือตีลังกาเพราะถังอากาศจะไปกระแทกโดนปะการังโดยไม่ตั้งใจ

3. ควบคุมการใช้ตีนกบ ระวังอย่าให้ไปถูกแนวปะการัง

4. หลีกเลี่ยงการดิ่งลงสู่พื้นในกรณีที่ยังไม่ชำนาญ ควรจะค่อยๆ ไต่ลงตามสายสมอ

5. เก็บอุปกรณ์ที่เป็นสายระโยงระยางให้เรียบร้อย เพราะมักไปเกี่ยวปะการังอยู่เสมอ

6. อย่าเก็บสิ่งของจากท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง กัลปังหา โดยเด็ดขาด

7. อย่ายืนพักตัวบนปะการัง และแตะต้องแนวปะการัง

8. อย่าสัมผัสหรือจับต้องสัตว์น้ำทุกชนิด อย่าดำน้ำไล่ต้อน และเฝ้าชมอยู่ในระยะห่างพอสมควร โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปลากระเบนราหูหรือปลาฉลามวาฬ เพราะจะเป็นเหตุให้สัตว์ใหญ่เหล่านี้ตื่นกลัว และอาจไม่ยอมเข้าใกล้นักดำน้ำอีกเลย

9. หากพบขยะใต้ท้องทะเลโปรดเก็บมาทิ้งในถังขยะบนเรือหรือที่ชายฝั่ง

10. จอดเรือกับทุ่นจอดเรือของอุทยานแห่งชาติ หรือบริเวณที่อุทยานแห่งชาติกำหนด

ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, ศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

SHARE

Follow us

  • |