• Future Perfect
  • Articles
  • ฝนหลวงเร่งเจาะชั้นอากาศระบายฝุ่นควัน "เชียงใหม่" หลังค่ามลพิษยังติดอันดับโลก

ฝนหลวงเร่งเจาะชั้นอากาศระบายฝุ่นควัน "เชียงใหม่" หลังค่ามลพิษยังติดอันดับโลก

Sustainability

ความยั่งยืน18 มี.ค. 2567 14:51 น.

เชียงใหม่ติดอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ด้านผู้ว่าฯ เผยลดพื้นที่เผาในป่าได้กว่า 70% แต่ปัญหามาจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ฝนหลวงเร่งเจาะชั้นอากาศระบายฝุ่นควัน

วันที่ 18 มี.ค. 67 มีรายงานว่า สภาพตัวเมืองเชียงใหม่ยังคงถูกปกคลุมหนาทึบด้วยฝุ่นควันไฟป่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่ามลพิษอากาศสูงเกินมาตรฐานจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่ย่างเข้าสู่เดือน มี.ค. 67 

โดยเว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 13.54 น. วันนี้ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 190 US AQI ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคน โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าว ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก 

ขณะที่ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งอยู่ ในตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ, ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม, ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และตำบลหางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. วันนี้ อยู่ที่ 88.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 91.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 60.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 121.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 88.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 214 ,217, 192, 162, 247 และ 214 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100

ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างเต็มที่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 สามารถควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาในช่วงนั้นได้เกือบ 100% ทำให้ไม่เกิดปัญหา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่เดือน มี.ค. 67 พื้นที่เป้าหมายเปลี่ยนเป็นต้องควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่า 90% หรือเกือบ 12 ล้านไร่ มากที่สุดในประเทศ โดยสามารถควบคุมให้พื้นที่เผาลดลงได้ถึง 70% ทั้งป้องกันการเกิดไฟไหม้และดับไฟให้เร็วที่สุด จึงทำให้ไม่เกิดฝุ่นควันซ้ำเติมกับฝุ่นควันข้ามแดนที่เข้ามาทำให้เกิดสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ส่วนที่มีผู้ถามว่าทำไมไม่ไปช่วยดับไฟนั้น เนื่องจากตัวเองไม่ได้ฝึกและไม่มีทักษะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตัวเองได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีในการอำนวยการและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ดับไฟสามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด  

ส่วนทางผู้สื่อข่าวรายงานว่า แทบทุกปีที่ผ่านมา ทางการห้ามเผาป่าและในที่โล่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. แต่พอเข้าเดือน มี.ค. ชาวบ้านเริ่มเผาป่า ตามความเชื่อว่าที่ไหนมีขี้เถ้าถ่าน "เห็ดถอบ" จะออกมาใหม่ ลิตรละ 300 กว่าบาท จึงมีปัญหามาทุกปี สร้างความเดือดร้อนให้กับทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการทุกปี ไฟป่าจะเกิดเองไม่ได้ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่กับป่าไม้ต้องหนีตายกันเป็นจำนวนมากมาย ป่าไม้เสียหายยับ ผู้คน ผู้สูงอายุ คนไข้ติดเตียง หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก ผู้คนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบโรคทางเดินหายใจกันเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เผาป่าเพียงไม่กี่คนหาผลประโยชน์จากป่า เห็นใจทางเจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า

และจากสถานการณ์ฝุ่นควันจากไฟป่าที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ตลอดทั้งวันนี้ (18 มี.ค.) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ส่งเครื่องบินแบบ CN และเครื่องบินแบบ CASA ขึ้นบินในภารกิจบรรเทาหมอกควันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และบริเวณรอยต่อ อ.สามเงา จ.ตาก-อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยจะมีการดัดแปรสภาพอากาศโดยใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองที่สะสมออกไปได้ 

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ แพร่ จันทบุรี กาญจนบุรี และ สงขลา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า รวมถึงบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 

โดยในพื้นที่ภาคเหนือตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ภายในสนามบินกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และปรับแผนการปฏิบัติภารกิจใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด CN จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 3 ลำ เครื่องบินชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก บรรเทาปัญหาไฟป่า และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ ช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเจาะช่องชั้นอากาศ เร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ ระบายฝุ่นควันออกไปให้ได้มากที่สุด.

SHARE

Follow us

  • |