สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ "ลำพูน" หลายพื้นที่เกินมาตรฐาน ทัศนวิสัยแย่ เหมือนเมืองหายไปทั้งเมือง
วันที่ 16 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน หมอกควันพิษยังคงปกคลุมเมืองหนาแน่น ทัศนวิสัยการมองเห็นในระยะใกล้ไม่ดีนัก และหากใครที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยกันฝุ่นละอองออกจากบ้าน ก็จะมีอาการแสบตา แสบจมูกได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ขึ้นไปที่ วัดดอยติ อ.เมือง จ.ลำพูน พบว่า มีหมอกควันพิษปกคลุมขาวโพลนเต็มไปหมด เหมือนกับว่าเมืองทั้งเมืองหายไปเลย
โดย สำนักงาน ทสจ.ลำพูน รายงานคุณภาพอากาศจังหวัดลำพูน ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สถานีตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน ค่า PM 2.5 = 136.2 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สถานีตำบลลี้ อำเภอลี้ ค่า PM 2.5 = 144.8 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) อัตราการระบายอากาศในพื้นที่จังหวัดเฉลี่ย = 2,588 ตร.ม./วินาที อยู่ในเกณฑ์อ่อน (สีเหลือง) การเผาในที่โล่งก่อน 11.00 น. และหลัง 16.00 น. มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศมาก
ทั้งนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาปฎิบัติราชการที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ถึงสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน พบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีจุดความร้อนสะสม 72,191 จุด อยู่ในพื้นที่ป่า 41,970 จุด (ป่าอนุรักษ์ 23,141 จุด และป่าสงวนแห่งชาติ 18,829 จุด) และนอกพื้นที่ป่า 30,221 จุด โดยจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คิดเป็น 32.82 เปอร์เซ็นต์ของจุดความร้อนใน ปี 2566
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน วันที่ 16 มีนาคม 2567 พบจุดความร้อนในประเทศไทย 394 จุด ส่วนใหญ่พบใน 17 จังหวัดภาคเหนือ (215 จุด) มากที่สุดที่จังหวัดตาก (34 จุด) นครสวรรค์ (26 จุด) และกำแพงเพชร (25 จุด) โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงในปัจจุบัน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โซน จ.ตาก และ จ.ลำพูน
พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 11 พื้นที่ป่าอนุรักษ์มุ่งเป้า ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ สาละวิน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น, อุทยานแห่งชาติแม่ปิง, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม, อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรี นครินทร์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ, เตรียมการอุทยานแห่งซาติถ้ำผาไท และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าอมก๋อย
โดยจำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 11 แห่ง ในปัจจุบัน คิดเป็น 47.08 เปอร์เซ็นต์ ของจุดความร้อนใน ปี 2566