อ.ธรณ์ เผย 10 ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับวิกฤติหญ้าทะเลและพะยูน ชี้ "ศรีบอยา" เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
วันที่ 8 มี.ค. 67 เป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับวันนี้ เมื่อมีการพบซากพะยูน ที่เกาะลิบง อีกทั้งพะยูนยังอยู่ในสภาพซูบผอม ประกอบกับพบว่า "หญ้าทะเล" ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ก็มีจำนวนลดลงจนน่าใจหาย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติหญ้าทะเล/พะยูน โดยระบุว่า
1. หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว
2. หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 65-67 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด
ปัจจุบัน มีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา)
ภาพที่เห็นคือหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว
หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)
3. พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
4. กรมทะเลมีงบศึกษาวิจัยสัตว์หายากน้อยมาก แม้เริ่มมีอุปกรณ์และทีมงานดีขึ้น แต่งบปฏิบัติการยังน้อยและทำการสำรวจได้ไม่เต็มที่
ในด้านสัตวแพทย์ทะเล ฯลฯ ยังมีบุคลากรจำกัด การศึกษาที่จำเป็น เช่น ตรวจฮอร์โมน ศึกษา DNA การย้ายถิ่น ฯลฯ เพิ่งเริ่มต้น และคงต้องใช้เวลาอีกนานด้วยความจำกัดในหลายด้าน
5. คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (กระบี่ตอนบน/พังงา/ภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (สตูล) แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน
บอกไม่ได้ เพราะการสำรวจทำตามงบจำกัด ไม่สามารถสำรวจต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในช่วงเวลาเดียวกัน
6. ในอดีตไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่ตรังเมื่อ 40 ปีก่อน หญ้าไม่เคยหายไปเยอะแบบนี้
เนื่องจากหญ้าตายเพราะโลกร้อน/สิ่งแวดล้อม การแก้ที่ต้นเหตุจึงยากมาก
7. การปลูกฟื้นฟูจำเป็นต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม พันธุ์หญ้าที่เหมาะสม (DNA) ภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน
คณะประมงตั้ง "หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน" และมีโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลเพื่อเรื่องนี้ตั้งแต่ 4 ปีก่อน
8. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูการอพยพ (หากมี) เพื่อดูแลแหล่งหญ้าใหม่ที่พะยูนอาจไป
แนวทางใหม่ๆ เช่น การติดตามสัตว์แบบ tracking ด้วยดาวเทียม การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ อาจต้องเริ่มคิดกัน
9. กรมทะเลตั้งคณะทำงานแล้วตั้งแต่ต้นปี ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ (บางคนก็อยู่ในทะเลตอนนี้) ประชุมกันเกือบทุกวัน เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญดีกว่านี้อีกแล้ว
10. ทางออกที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่กรมทะเลเสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน
ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่? (งบไม่ใช่หลายล้าน ทั้งหมดที่เสนอไป ราคาใกล้เคียงรถ EV จากจีน)
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat