• Future Perfect
  • Articles
  • "ไทย" เจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลก 2029 ชูวิสัยทัศน์ "สู่อนาคตแห่งโลกสีเขียว"

"ไทย" เจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลก 2029 ชูวิสัยทัศน์ "สู่อนาคตแห่งโลกสีเขียว"

Sustainability

ความยั่งยืน7 มี.ค. 2567 08:00 น.
  • ประเทศไทย คว้าสิทธิ์เจ้าภาพ มหกรรมพืชสวนโลก "โคราช เอ็กซ์โป 2029" ภายใต้แนวคิด "ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว"
  • ทั้งนี้ มหกรรมพืชสวนโลก ถือเป็นงานระดับ A1 ตามเกณฑ์ของ องค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE
  • โดยคาดว่า การจัดงานพืชสวนโลก 2572 ที่โคราชนี้ จะมีผู้เข้าชมงาน 2.6-4 ล้านคน และทำให้เกิดการสร้างงาน 36,003 อัตรา ก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย เนื่องจากในระหว่างการประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ วันนี้ (6 มี.ค. 67) สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo) หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (โคราช เอ็กซ์โป 2029) ภายใต้แนวคิด "ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว" (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) ที่สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเอง เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานครั้งนั้นด้วย

 

รู้จัก "งานมหกรรมพืชสวนโลก" งานใหญ่ระดับโลก

งานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers หรือ AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยงานมหกรรมพืชสวนโลกมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวทางการแก้ปัญหาด้านพืชสวน และการอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงการมีสุขภาวะที่ดี เศรษฐกิจสีเขียว การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน การศึกษาและนวัตกรรม ส่วนรูปแบบการจัดงานนั้น ก็จะดำเนินการโดยประเทศเจ้าภาพ

ซึ่ง "มหกรรมพืชสวนโลก" ถือเป็นงานขนาดใหญ่ระดับโลก ที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการจัดงานระดับโลกในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และรายได้ในประเทศ ตลอดจนการทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำการจัดงานเมกะอีเวนต์นานาชาติด้านพืชสวน เกิดการยกระดับและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านการเกษตร องค์ความรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยในเวทีโลก

โดยมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติหลักการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการยื่นประมูลสิทธิ์ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) ต่อสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

ต่อมา คณะรัฐมนตรี มีมติครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 อนุมัติกรอบงบประมาณการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบประมาณ 4,280 ล้านบาท โดยให้มีการดำเนินการเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และต้องเป็นไปตามระเบียบราชการ มีความถูกต้อง และโปร่งใส

มหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572

สำหรับมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 นั้น ชูวิสัยทัศน์ การนำเสนอให้เห็นว่าความยั่งยืนด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรมล้ำสมัยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แสดงแบบอย่างของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้เชิงวิธีการสำหรับจัดการประเด็นปัญหาท้าทายระดับโลก ผ่านการใช้วิถีชีวิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบเมือง และการผลิตอาหารด้วยแนวทางที่ยั่งยืน ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ

1. การกลับสู่ธรรมชาติ คืนสู่วิถีติดดิน : ปรับชีวิตสู่ความสมดุล

  • ใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน
  • ส่งเสริมความยั่งยืน ด้วยพฤติกรรม “ยิ่งน้อย ยิ่งมาก” (Less is More)

2. ความยั่งยืนด้านอาหาร ให้ธรรมชาติเป็นผู้หล่อเลี้ยง : การผลิตอาหารที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

  • แสดงแบบอย่างของความหลากหลายในวิถีเกษตรและพืชสวน
  • ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ
  • รักษาสมดุลของระบบนิเวศ

3. การสร้างเมืองท่ามกลางความเขียวขจี ปรับโฉมการออกแบบชีวิตคนเมืองท่ามกลางความเขียวขจี

  • จัดแสดงพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
  • ปกป้องสิ่งแวดล้อม
  • สร้างเมืองที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานนั้น ผู้แทนจากทีมประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุม นำโดย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้นำเสนอความพร้อมในรอบสุดท้าย และหลังจากนี้ ไทยจะต้องเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) เพื่อให้ได้รับการพิจารณารับรองเป็น Certified License Host ของงาน เนื่องจากมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานระดับ A1 ตามเกณฑ์ของ BIE

ชูจุดเด่นผสานการสร้างอนาคต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2572 ที่โคราช หรือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพจัดงาน เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและพืชสวนของประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ โดยงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 จะเป็นเวทีระดับนานาชาติ นำเสนอแนวทางการทำพืชสวนที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม มุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะเมืองเจ้าภาพ จังหวัดนครราชสีมาพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก เพื่อสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ผสานกับวิสัยทัศน์ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน การจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 ครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมเมืองโคราช โดยยกฐานะสู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียว

เช่นเดียวกับ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เน้นย้ำถึงความมุ่งหวังด้านการสร้างมรดกที่ยั่งยืนและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ว่า โคราช เอ็กซ์โป 2029 ถือเป็นงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ในการส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมพืชสวนผ่านการปลูกพืชเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ร่วมพัฒนาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลก สำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป 

โคราช เอ็กซ์โป 2029

อย่างไรก็ตาม มหกรรมพืชสวนโลก "โคราช เอ็กซ์โป 2029" นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 2572-28 ก.พ. 2573 บริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 678 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 2.6-4 ล้านคน และทำให้เกิดการสร้างงาน 36,003 อัตรา ก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 9,163 ล้านบาท.

SHARE

Follow us

  • |