• Future Perfect
  • Articles
  • ปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" ทำไมคนในเมืองใหญ่รู้สึกร้อนกว่ารอบนอก

ปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" ทำไมคนในเมืองใหญ่รู้สึกร้อนกว่ารอบนอก

Sustainability

ความยั่งยืน5 มี.ค. 2567 20:57 น.

รู้จัก ปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" หรือ โดมความร้อน (Urban Heat Island : UHI) เหตุใดคนในเมืองใหญ่จึงรู้สึกร้อนกว่ารอบนอก

เคยสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดจึงรู้สึกว่าในเมืองร้อนกว่าที่อื่น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกสูงระฟ้ามากมาย มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งนอกจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความร้อนในเมืองใหญ่มีอุณหภูมิสูงขึ้นก็คือ "ปรากฏการณ์เกาะความร้อน" หรือ "โดมความร้อน" (Urban Heat Island : UHI) 

รู้จัก ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

เป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ชานเมืองรอบนอก เนื่องจากในเวลากลางวัน ตึกสูงและพื้นคอนกรีตที่มีอยู่มากมายในเมืองได้ดูดซับความร้อนไว้ แล้วจะคลายความร้อนออกมาเมื่ออุณหภูมิเย็นลงในเวลากลางคืน ประกอบกับอาคารตึกสูงยังกีดขวางการเคลื่อนไหวของลม ทำให้การพาของความร้อนเป็นไปได้ไม่สะดวก 

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เกาะความร้อน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดความเครียดจากความร้อน รวมไปถึงการสิ้นเปลืองพลังงานจากการเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อต่อสู้กับความร้อน เรียกได้ว่าทั้งสิ้นเปลืองพลังงานและเงินค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการเกิดฝนตกช่วงเลิกงาน หรือฝนราชการ เนื่องจากเมืองสะสมความร้อนไว้ตลอดวัน ทำให้ความร้อนเหล่านี้ดึงความชื้นขึ้นไปสะสมบนท้องฟ้าจำนวนมาก จนกลายเป็นกลุ่มเมฆแล้วตกลงมาเป็นฝนในช่วงเย็นถึงค่ำ แต่จะเป็นฝนที่มีความเป็นกรดและสกปรก เนื่องจากเป็นการชะเอาก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นควันที่สะสมในเมืองลงมาด้วย และยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนรูปแบบของลมประจำถิ่น การเกิดเมฆ หมอก ความชื้น และอัตราของหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) 

แนวทางการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้ดีคือการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง สามารถบรรเทาปรากฏการณ์เกาะความร้อนได้ดังนี้ 

1. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื่องจากต้นไม้ให้ร่มเงา ช่วยฟอกอากาศ ดูดซับแสงอาทิตย์ สามารถลดความร้อนในเมืองได้ รวมไปถึงการเพิ่มสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ริมถนน หรือการปลูกต้นไม้รอบอาคาร หรือบนดาดฟ้า

2. การเพิ่มการสะท้อนออกของพื้นผิว เช่น การใช้วัสดุสะท้อนความร้อน การเปลี่ยนสีของพื้นผิววัตถุให้เป็นสีขาวหรือสีอ่อน เพื่อลดการสะสมความร้อน

3. การนำแนวคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) มาปรับใช้ 

ข้อมูลจาก Action for Climate Empowerment Thailand, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

SHARE

Follow us

  • |