• Future Perfect
  • Articles
  • กล้องดักถ่าย พบครอบครัว "เสือโคร่ง" ในป่าอุ้มผาง บ่งบอกป่าสมบูรณ์

กล้องดักถ่าย พบครอบครัว "เสือโคร่ง" ในป่าอุ้มผาง บ่งบอกป่าสมบูรณ์

Sustainability

ความยั่งยืน27 ก.พ. 2567 17:24 น.

กล้องดักถ่าย จับภาพเสือแม่ลูกสามตัว เดินเป็นครอบครัว ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก บ่งบอกป่าสมบูรณ์

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิด "โครงการฝึกอบรมเสริมสร้างประสิทธิภาพและเทคนิคการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ" (Smart Patrol Center) ณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร

โดย ดร.รุ้งนภา พูลจำป่า Wildlife Program Director ได้นำเสนอความเป็นมาการปรับปรุงศูนย์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการอนุรักษ์เสือโคร่ง ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน กล่าวว่า เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ และยังชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่า

สำหรับเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่ และมีความต้องการสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่หลากหลาย หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดต่างๆ ก็อาศัยอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน แต่ปัจจุบันประชากรของเสือโคร่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นไปด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง

อย่างไรก็ตาม การติดตามประชากรเสือโคร่งด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap survey) ซึ่งเป็นเทคนิคการติดตามประชากรเสือโคร่ง โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ พบว่ามีเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน มีมากกว่า 20 ตัว ซึ่งเร็วๆ นี้ยังพบลูกของเสือโคร่ง 3 ตัว ในผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จังหวัดตากด้วย

ทั้งนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-ประเทศไทย) ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ได้มีการสำรวจประชากรเสือโคร่งมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 และกำลังสำรวจประชากรในปี 2567 (ปัจจุบัน) เพื่อประเมินสถานการณ์การกระจาย และประชากรของเสือโคร่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และผืนป่าตะวันตกตอนบน การกระจายและความมากน้อยของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อเสือโคร่ง เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาวางแผนการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง และอนุรักษ์ระบบนิเวศ

รวมทั้งมีเสือโคร่งที่เกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หลายตัว หรือกว่า 4 ตัว ได้เดินทางมาหากินยังพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ และการป้องกันพื้นที่ที่เข้มแข็ง ทำให้สัตว์ป่าสามารถเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันพื้นที่โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ได้สนับสนุนให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีการลาดตระเวนโดยใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol system)

โดยเป็นการลาดตระเวนที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ในแต่ละครั้งของการเดินลาดตระเวน เช่น ข้อมูลการพบเห็นสัตว์ป่า การพบปัจจัยคุกคาม ข้อมูลการกระทำผิด จะถูกนำมาจัดระเบียบ วิเคราะห์ และประมวลผล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเฉพาะทางที่เตรียมไว้ ทำให้สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของการลาดตระเวนผ่านการประมวลผลเชิงพื้นที่ได้สะดวก.

คลิปจาก WWF Thailand

SHARE

Follow us

  • |