• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จักปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" เกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

รู้จักปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" เกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

Sustainability

ความยั่งยืน26 ก.พ. 2567 21:30 น.
  • ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" เกิดขึ้นจากอะไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
  • เปิดสถิติการเกิด "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" ในประเทศไทย พบสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก "แพลงก์ตอนพืช"
  • เช็กข้อควรระวัง และการปฏิบัติตนเวลาเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางทะเล ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายปีมานี้ สำหรับ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" ที่มีรายงานล่าสุด เกิดขึ้นที่ทะเลบางแสน บริเวณนอกชายฝั่งทะเลศรีราชา รวมถึงบริเวณอื่นๆ ใน จ.ชลบุรี

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีสาเหตุจากการสะพรั่งของ ไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนที่ไม่สร้างสารชีวพิษ และมักพบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" นับเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่ก็มักจะสร้างผลกระทบต่อทะเลบ่อยครั้ง

ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี เกิดจากการเพิ่มปริมาณสารอาหารบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่

มักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุหลัก ทำให้ธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากแผ่นดินในช่วงฤดูฝน สารอินทรีย์จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม เกษตรกรรม การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งป่าชายเลนทำให้ตะกอนที่ไหลลงมากับแม่น้ำลำคลองไม่ถูกดักจับ จึงไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากกว่าในอดีต

ทั้งนี้ กรมทะเลและชายฝั่ง ได้แบ่งสาเหตุเป็น 2 กลุ่มดังนี้

  1. การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและชุมชนบริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานประกอบการตามแนวชายฝั่งบริเวณแม่น้ำลำคลอง กิจกรรมการประมง แพปลา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยก่อให้เกิดมลพิษลงสู่ชายฝั่งทะเล ปริมาณสารอาหาร รวมถึงปริมาณแบคทีเรีย
  2. การสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช (Plankton bloom) หรือเรียกว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เช่น สีเขียวของสกุล Noctiluca และ สีน้ำตาลของสกุล Chaetoceros เป็นต้น ปริมาณออกซิเจนจะลดลงอย่างมาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงชายฝั่ง

เปิดสถิติการเกิด "น้ำทะเลเปลี่ยนสี" ในประเทศไทย

การเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย เริ่มมีรายงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 เกือบทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน แพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย คือ ไดโนแฟลกเจลเลต ไดอะตอม และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

โดยไดโนแฟลกเจลเลต เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแง่ของการวิจัย และการเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างสารชีวพิษ ที่สามารถสะสมในสัตว์กลุ่มที่กรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และถ่ายทอดผ่านการกินต่อๆ กันในระบบห่วงโซ่อาหาร ที่ก่อให้เกิดผลกระทบได้ ถึงแม้จะแพร่กระจายในระดับความหนาแน่นต่ำ ซึ่งมีสถิติการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย ดังนี้

พ.ศ. 2550-2554

พบแพลงก์ตอนพืช ที่เป็นสาเหตุหลักของน้ำทะเลเปลี่ยนสีในช่วง 5 ปีนี้ มีดังนี้

  1. ไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวเข้ม
  2. Ceratium furca ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ
  3. สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สกุล Oscillatoria spp. ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
  4. ไดอะตอมสกุล Chaetoceros spp. ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือน้ำตาลขึ้นกับชนิด

พ.ศ. 2557-2558

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเกิดขึ้น ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย แต่มักเกิดบริเวณฝั่งอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดบางแสน หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี จะพบแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต Noctiluca scintillans และกลุ่มไดอะตอม Chaetoceros spp. ที่เป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี

พ.ศ. 2564

ในปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม พ.ศ. 2563 - กรกฎาคม พ.ศ. 2564) พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช เฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย จำนวน 25 ครั้ง โดยจังหวัดชลบุรี พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 16 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม

รองลงมา คือ จังหวัดระยอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ละ 2 ครั้ง ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน พบการสะพรั่งของสาหร่ายสีแดง สกุล Hypnea ซึ่งมีกลุ่มไดอะตอมเจริญร่วมอยู่ด้วย บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 1 ครั้ง

ชนิดของแพลงก์ตอนพืช ที่ทำให้เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นผลมาจากการที่แพลงก์ตอนพืชบางชนิดได้รับธาตุอาหาร และปริมาณแสงในปริมาณมากกว่าปกติ จึงเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีที่เปลี่ยนไปตามสีรงควัตถุของแพลงก์ตอนพืชชนิดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น 

โดยปัจจุบันมีรายงานชนิดของแพลงก์ตอนพืช ที่เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีกว่า 300 ชนิด ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 สามารถสร้างสารชีวพิษได้ มีการจำแนกสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิด HAB ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่เพิ่มปริมาณมากอย่างรวดเร็วในมวลน้ำ ทำให้เกิดสภาวะขาดออกซิเจน และส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

2. กลุ่มที่สร้างสารชีวพิษ ซึ่งสะสมในสัตว์ทะเล และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือเป็นสาเหตุให้ปลาตาย สารชีวพิษที่พบว่าสร้างโดยแพลงก์ตอนพืช มี 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  • พิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poisoning : PSP) และออกฤทธิ์ต่อปลายประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ
  • พิษท้องร่วง (Diarrhetic Shellfish Poisoning : PSP) : มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร
  • พิษที่ทำให้ความจำเสื่อม (Amnesic Shellfish Poisoning : ASP) ออกฤทธิ์รบกวนการส่งสัญญาณในสมอง อาจส่งผลให้สูญเสียความทรงจำ
  • พิษต่อระบบประสาทรับความรู้สึก (Neurotoxic Shellfish Poisoning : NSP) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
  • พิษซิกัวเทอรา (Ciguatera Fish Shellfish Poisoning : GSP) ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

  1. ทำความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะปลา หน้าดินและสัตว์น้ำหน้าดิน
  2. เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนพิษ ในกรณีเกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชที่สร้างพิษ
  3. ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมง กล่าวคือ สัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำหากมีการปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐาน
  4. ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมื่อแพลงก์ตอนตายแล้วถูกพัดเข้าฝั่งจะมีกลิ่นคาว สีและกลิ่นทำให้ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม และนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอาจเกิดอาการคันและระคายเคือง

ข้อควรระวังเวลาเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

  1. เกษตรกรที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ในกระชังที่ใกล้บริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี ควรเฝ้าดูแลระมัดระวังสัตว์น้ำที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หรือไม่ควรจับสัตว์น้ำเลย เพราะบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีจะมีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำต่ำลงมาก
  2. ควรงดรับประทานสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับพิษ
  3. นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่มีอาการแพ้ง่ายบริเวณผิวหนัง ควรงดกิจกรรมทางน้ำ เช่น เล่นน้ำทะเล ดำน้ำ เป็นต้น