• Future Perfect
  • Articles
  • "ปลาตีน" กับการทำหน้าที่ นักรักษาสมดุลแห่งป่าชายเลน

"ปลาตีน" กับการทำหน้าที่ นักรักษาสมดุลแห่งป่าชายเลน

Sustainability

ความยั่งยืน24 ก.พ. 2567 09:00 น.
  • รูปร่างหน้าตา อาจจะไม่น่ารัก แต่รู้หรือไม่ "ปลาตีน" เขาได้รับฉายา นักรักษาสมดุลแห่งป่าชายเลน เลยนะ
  • นอกจากว่ายน้ำได้แล้ว ปลาตีน ยังสามารถอาศัยอยู่บนบกได้นาน รวมถึงปีนเกาะรากไม้ชายเลนได้ด้วย

เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อของ "ปลาตีน" กันมาบ้างแล้ว แต่น้อยคนที่จะเห็นว่า ปลาตีนลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างไร

วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง

สำหรับ "ปลาตีน" ถือว่าเป็นปลาที่อาศัยได้ทั้งบนบก น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พบได้เฉพาะบริเวณป่าชายเลน ในเขตร้อน ที่มีน้ำท่วมถึง ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวป่าชายเลน อาจจะได้เห็นปลาตีน ใช้ครีบทั้ง 2 ข้าง ไถตัวเองไปตามดินเลน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำป่าชายเลนก็ว่าได้

ลักษณะทั่วไปของ "ปลาตีน"

สำหรับปลาตีนนั้น ตัวผู้จะตัวใหญ่กว่าตัวเมีย จะออกลูกเป็นไข่ โดยตัวเมียสามารถวางไข่ได้ ครั้งละ 8,000 – 48,000 ฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 19,000 ฟอง/ตัว เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืช อย่างเช่น เศษใบไม้ และสัตว์ อาทิ กุ้ง ปู ปลาขนาดเล็ก และแมลง 

ปลาตีนจะมีหัวขนาดใหญ่ มองเห็นได้ดี เพราะมีตาหนึ่งคู่อยู่ส่วนบนสุดของหัว ใช้ครีบอกในการเคลื่อนที่บนบก มีครีบพิเศษใต้อกใช้ยึดเกาะรากไม้ นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนที่อีกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพยุงตัว ใช้ในการจับอาหาร การสลัดหางเพื่อช่วยในการกระโดด หนีผู้ล่า 

ส่วนที่ปลาตีนสามารถใช้ชีวิตบนบกได้เป็นเวลานาน เพราะมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือก ที่จะเก็บความชุ่มชื้นจากน้ำ และสูดอากาศบนบกเข้าปาก นำออกซิเจนเข้าไปผสมกับน้ำ เพื่อใช้ในการหายใจ 

โดยปลาตีนจะขุดรูไว้เป็นที่หลบภัย และวางไข่สืบพันธุ์ พร้อมทั้งหากมีศัตรู ก็จะกางครีบหลังเพื่อเป็นการขู่ฝ่ายตรงข้าม และอีกหนึ่งความสามารถพิเศษของปลาตีนคือ การปรับเปลี่ยนสีลำตัว และปรับอุณหภูมิร่างตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้

ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ป่าชายเลน

ในป่าชายเลนประเทศไทยนั้น สามารถพบ ปลาตีน ได้หลายชนิด อาทิ ปลาตีนจุดฟ้า, ปลาตีนเล็กสีน้ำตาล, ปลาตีนใหญ่ (จุมพรวด) ฯลฯ และอย่างที่บอกไปว่า ปลาตีนสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ มันจึงทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์น้ำอื่นไม่ให้มีมากเกินไป ช่วยควบคุมสมดุลในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศป่าชายเลนและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ภายในพื้นที่.

SHARE

Follow us

  • |