• Future Perfect
  • Articles
  • น่าเป็นห่วง "หญ้าทะเล" ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คาดผลกระทบโลกร้อนทะเลเดือด

น่าเป็นห่วง "หญ้าทะเล" ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คาดผลกระทบโลกร้อนทะเลเดือด

Sustainability

ความยั่งยืน16 ก.พ. 2567 13:53 น.

น่าเป็นห่วง เปิดภาพแสนเศร้า "หญ้าทะเล" ในพื้นที่ จ.ตรัง จ.กระบี่ ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดมาจากผลกระทบโลกร้อนทะเลเดือด

วันที่ 16 ก.พ. 67 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การลดจำนวนลงของหญ้าทะเลบางพื้นที่ในจังหวัดตรัง จ.กระบี่

โดยระบุว่า ภาพมือของชาวบ้านประคองหญ้าทะเลใบขาดรากเน่าเป็นภาพแสนเศร้า เป็นเวลาร่วม 2 ปีมาแล้วที่หญ้าทะเลบางพื้นที่ในจังหวัดตรัง/กระบี่ ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด 

อาการคล้ายกัน ใบเริ่มขาด กุดจนเหลือแต่ตอ เมื่อไม่มีใบ หญ้าทะเลดึงสารอาหารที่เก็บไว้ในรากมาใช้ รากค่อยๆ ลีบลงจนหญ้าอยู่ไม่ได้ หญ้าตายหายไปเกือบหมด เมื่อหญ้าทะเลขนาดใหญ่หายไป การดักตะกอนเปลี่ยนแปลง จากพื้นโคลนกลายเป็นพื้นทรายแข็ง หญ้าชนิดอื่นอยู่ไม่ได้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่กระทำร่วมกัน อาจเป็นโรคเชื้อราที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ทำให้หญ้าทะเลตายเป็นวงกว้าง สถานการณ์ดังกล่าวเกิดหลายแห่งในตรัง บางแห่งในกระบี่ บางจุดที่พังงา และบางจุดในอ่าวไทย

แหล่งหญ้าทะเลคือระบบนิเวศแสนสมบูรณ์ เป็นที่อยู่สรรพสัตว์ คือแหล่งหากินเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน หญ้าหายไป สัตว์น้ำหายไป หอยชักตีน ปลา ปลิงทะเล ฯลฯ แทบทุกอย่างหายไป ความเดือดร้อนเกิดขึ้น รายได้ลดลง ต้องไปหากินไกลขึ้น ค่าน้ำมัน ช่วงเวลาต้องออกเรือ ฯลฯ

กรมทะเลตั้งคณะทำงานเร่งด่วน รวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ลงไปสืบหาสาเหตุและวิธีแก้ไข ทว่า อะไรทำให้หญ้าทะเลที่เคยอยู่มาชั่วนาตาปี อยู่ตรงนี้มาเป็นร้อยปี ล้มตายหายไปอย่างรวดเร็ว? 

ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านบางคนเกิดที่นี่ โตที่นี่ ทำมาหากินมาตลอดชีวิต บอกกับทีมนักวิชาการเช่นนี้

หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เอลนีโญ IOD ฯลฯ ถูกนำมาขบคิด แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นเป็นวัฏจักรธรรมชาติ เคยเกิดมาหลายหน แต่หญ้าไม่เคยเป็นอะไร

สิ่งเดียวที่อดีตไม่มี ปัจจุบันมี คือโลกร้อนทะเลเดือด

โลกไม่ใช่เพิ่งร้อน แต่ความรุนแรงในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดผลกระทบไปทั่วโลก

ผมเชื่อว่านั่นคือหนึ่งในสาเหตุ เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ การรับมือและปรับตัวต่อโลกร้อนคือเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่นี่คือเรื่องใหม่ เรายังไม่พร้อมในหลายด้าน น่ายินดีที่อย่างน้อยเรากำลังเริ่ม น่าเสียใจที่โลกไม่รอเราให้ค่อยๆ เริ่ม 

แรงสนับสนุนในด้านนี้ไม่พอเพียงเป็นอย่างมาก หากคิดถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปะการังฟอกขาวซ้ำซ้อนในอ่าวไทย หญ้าทะเลตายเป็นหมื่นๆ ไร่ และยังไม่มีทีท่าจะกลับมา โลกร้อนมาถึงทะเลไทยแล้ว และกำลังโจมตีระบบนิเวศของเราอย่างหนักหน่วง ภาพแสนเศร้าเช่นนี้จะเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลไทยครับ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามและสำรวจสถานภาพหญ้าทะเล ในพื้นที่แหลมจูโหย จ.ตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หญ้าทะเล และตะกอนดินเลน นำไปตรวจสอบหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

โดยมีดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ตลอดจนคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

จากนั้นเดินทางไปยังเกาะลิบง ร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อหารือถึงสาเหตุความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล อีกทั้งรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแหล่งหญ้าทะเล อันส่งผลกระทบต่อพะยูน เต่าทะเล ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะลิบง นอกจากนี้ กรม ทช. จะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ไปประกอบการประชุมในการจัดทำแผนการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม รวมทั้งแนวทางการแก้ไขและฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป.

ข้อมูลจาก แฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

SHARE
03:05

ช่างตัดผมสุดสงสาร น้องผู้หญิงเหาขึ้นเต็มหัว จำเป็นต้องโกนผมทิ้งทั้งหมด

Follow us

  • |