ข้อดีของ Work From Home ช่วยลดฝุ่นได้แค่ไหน หลังกรุงเทพมหานครประกาศเตือนฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 15-16 ก.พ. 67
วันที่ 15 ก.พ. 2567 มีรายงานว่า จากกรณี กรุงเทพมหานคร ประกาศ Work From Home วันที่ 15-16 ก.พ. ขอความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ยกระดับป้องกันสุขภาพเข้มข้นจากฝุ่น PM 2.5
ล่าสุด นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความว่า WFH ช่วยลดฝุ่นได้แค่ไหน?
ตอนนี้ทางกทม.เราประกาศการ WFH ภายในองค์กร (ยกเว้นหน่วยให้บริการประชาชน) และขอความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (เครือข่ายเกิน 60,000 คน) ให้ WFH เช่นกัน
WFH มีข้อดีสองมิติคือ
1) การลดปริมาณฝุ่นจากการเดินทางไปที่ทำงาน
2) การป้องกันสุขภาพจากการลดการออกไปข้างนอก
ในมิติของการลดปริมาณฝุ่นจากการเดินทาง ผมขอแชร์งานวิจัยของ อ.ภัคพงศ์ พจนารถ จากคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม NIDA ที่ได้ทำข้อมูลมา
อ.วิเคราะห์หลายนโยบาย เช่น WFH, ห้ามการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด, เปลี่ยนรถเมล์เป็น NGV, ขยายขอบเขตพื้นที่จํากัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่
โดยพิจารณา 3 ปัจจัย:
1) ปริมาณ PM 2.5 ที่ลดลง (หน่วย: กก.ต่อเดือน)
2) ต้นทุนส่วนเพิ่ม (หน่วย: บาทต่อ กก.ต่อเดือน)
3) ระดับผลกระทบทางสังคม
สำหรับมาตรการ WFH มีรายละเอียดดังนี้
มาตรการ: ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ทางานจากระยะไกล (Work from remote) โดยตั้งเป้าไว้ที่ 30% และขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้พนักงานทำงานจากระยะไกล
1) ปริมาณ PM 2.5 ที่ลดลง: 29,746 กก./เดือน
2) ต้นทุนส่วนเพิ่ม: -56,402 บาท/กก./เดือน
3) ระดับผลกระทบทางสังคม: ต่ำมาก
[สรุป: ลด PM 2.5 มาก + ต้นทุนตํ่า (ตํ่าจนกลายเป็นการประหยัด)]
เปรียบเทียบกับมาตรการจํากัดเวลารถบรรทุกใหญ่
มาตรการ: ขยายขอบเขตพื้นที่ในการจํากัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากวงแหวนรัชดาภิเษก ไปเป็นวงแหวนกาญจนา
1) ปริมาณ PM 2.5 ที่ลดลง: 3,012 กก./เดือน
2) ต้นทุนส่วนเพิ่ม: 450,140 บาท/กก./เดือน
3) ระดับผลกระทบทางสังคม: ตํ่ามาก
[สรุป: ลด PM 2.5 ตํ่า + ต้นทุนสูงมาก]
จากข้อมูลเหล่านี้ มีข้อสังเกตว่า
1) แม้ "ระดับผลกระทบทางสังคม" ของทั้ง 2 มาตรการจะอยู่ในเกณฑ์ "ตํ่ามาก" เท่ากัน แต่ปัจจัยเรื่อง ปริมาณ PM 2.5 ที่ลดลง และ ต้นทุนส่วนเพิ่ม นั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง
2) สำหรับ "ปริมาณ PM 2.5 ที่ลดลง" มาตรการ Work From Remote ของภาครัฐเพียง 30% นั้นสามารถลด PM 2.5 ได้มากกว่าการขยายขอบเขตพื้นที่จํากัดรถบรรทุก (29,746 กก./เดือน vs. 3,012 กก./เดือน)
3) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจัยเรื่อง "ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น" ซึ่งสำหรับ มาตรการ WFH นั้นต้นทุนส่วนเพิ่มเป็น negative (-56,402 บาท/กก./เดือน) ซึ่งหมายความว่าจะทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่าย เทียบกับมาตรการขยายขอบเขตพื้นที่ในการจํากัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนส่วนเพิ่มที่สูงมากถึง 450,140 บาท/กก./เดือน
ข้อมูลจาก แฟนเพจ พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ - Pornphrom Vikitsreth