• Future Perfect
  • Articles
  • ดัดแปลง "รถใช้น้ำมัน" เป็น "รถไฟฟ้า EV" นวัตกรรมรักษ์โลก ช่วยลดการปล่อยมลพิษ

ดัดแปลง "รถใช้น้ำมัน" เป็น "รถไฟฟ้า EV" นวัตกรรมรักษ์โลก ช่วยลดการปล่อยมลพิษ

Sustainability

ความยั่งยืน11 ก.พ. 2567 18:30 น.
  • จุดเริ่มต้นการทดลองดัดแปลง "รถใช้น้ำมัน" เป็น "รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก" 
  • ต้นทุนในการดัดแปลง "รถใช้น้ำมัน" เป็น "รถใช้ไฟฟ้า"
  • เปลี่ยนรถยนต์จากระบบ "น้ำมัน" เป็นระบบ "ไฟฟ้า" ช่วยลดการปล่อยมลพิษ

จบไปแล้วสำหรับ "งานเกษตรแฟร์ 2567" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม "นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน" ซึ่งภายในโซน H นวัตกรรมงานวิจัย จะมีการนำเสนอนวัตกรรม และวิจัยต่างๆ ที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้รับชมภายในงาน โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจปีนี้ คือ ต้นแบบรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้า ดัดแปลงสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ 

"รถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้า" ดัดแปลงสำหรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ ร่วมวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยอาจารย์ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาและบางเขน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนรถใหม่ แต่สามารถนำรถเก่าที่มีอยู่มาดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้า อีกทั้งสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่ง หลังจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือช่วยลดการปล่อยมลพิษ จากเครื่องยนต์ของรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมานานหลายปี

จุดเริ่มต้นการทดลองดัดแปลง "รถบรรทุกไฟฟ้า" 

จากการสอบถาม นายณัฐนันท์ ธิติไชยพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าว่า ทางอิเกียได้สนับสนุนรถยนต์ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้รถยนต์ระบบน้ำมัน นำมาทดลองดัดแปลงเป็นรถยนต์ระบบไฟฟ้า เพื่อใช้ขนส่งเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย เนื่องจากต้องการลดมลพิษจากรถยนต์ที่มีอายุ 15-20 ขึ้นไป เพราะในปัจจุบันพบว่ามีรถกระบะจดทะเบียนอยู่ประมาณ 7 ล้านคัน และพบว่ามีรถยนต์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปถึง 4 ล้านคัน ซึ่งรถเหล่านั้นสร้างมลพิษทางอากาศ อีกทั้งราคาน้ำมันค่อนข้างสูง จึงเกิดเป็นต้นแบบรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าขึ้นมา

สำหรับคุณสมบัติของรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้า ถือว่าแทบไม่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับรถใช้พลังงานน้ำมันทั่วไป โดยสามารถทำความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ไกล 180 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยในการชาร์จหนึ่งครั้งใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง ซึ่งน้ำหนักที่บรรทุกรวมน้ำหนักรถยนต์อยู่ที่ 3,000 กิโลกรัม 

ส่วนอีกคุณสมบัติที่น่าสนใจนั้น เนื่องจากต้นแบบรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าใช้งานขนส่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีการจราจรค่อนข้างแออัด ทำให้รถอาจต้องจอดอยู่กับที่นานๆ ในส่วนนี้รถไฟฟ้าจะไม่ใช้พลังงานมากเนื่องจากไม่มีการหมุนของมอเตอร์ เมื่อเทียบกับรถน้ำมันที่ต้องใช้น้ำมันตลอดเวลา

ขณะที่รถต้นแบบนี้ได้ทำการทดสอบใช้ขนส่งในรูปแบบถึงบ้านภายในวันเดียว (same-day delivery) ในรัศมีพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่เกิน 180 กิโลเมตร ปัจจุบันนี้มีการทดลองวิ่งขนส่งอยู่ 1 คัน โดยได้ผ่านการรับรองจดทะเบียนขนส่งตามประกาศข้อกำหนด หลักเกณฑ์ มาตรฐาน และใช้แผ่นป้ายทะเบียนตรงตามประเภทรถ จากกรมการขนส่งทางบก 

ต้นทุนในการดัดแปลง "รถใช้น้ำมัน" เป็น "รถใช้ไฟฟ้า"

ในปัจจุบันต้นทุนในการดัดแปลงรถใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า ใช้งบทั้งสิ้นอยู่ที่ 5 แสนบาท แต่ในอนาคตมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้เหลือ 3 แสนบาทต่อคัน ด้วยวิธีการผลิตสินค้าจำนวนมาก เพื่อทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง โดยการเปลี่ยนรถขนส่งจากรถน้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้าทั้งหมด จะทำให้ได้ราคาถูกลงกว่ารถต้นแบบคันนี้ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางในอนาคตเกี่ยวกับการนำระบบไฟฟ้าไปใช้กับรถที่มีขนาดใหญ่กว่านี้นั้น แม้จะมีโอกาส แต่ปัจจุบันหลายคนยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง แต่ถ้าในอนาคตแบตเตอรี่มีราคาลดลง หรือสามารถผลิตแบตเตอรี่เองได้ภายในประเทศ ก็จะเพิ่มความสนใจให้คนนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และใช้งานรถคันเดิมได้ต่ออีก 10-15 ปี เปรียบเหมือนได้รถคันใหม่ แต่ใช้โครงรถเดิม เพียงแค่เปลี่ยนจากระบบน้ำมันเป็นระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังได้ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์อีกด้วย.

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |