• Future Perfect
  • Articles
  • หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว อุณหภูมิโลกอาจสูงเกิน 2 องศาฯ

หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว อุณหภูมิโลกอาจสูงเกิน 2 องศาฯ

Sustainability

ความยั่งยืน9 ก.พ. 2567 16:07 น.

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติชี้ โลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาฯ ได้ และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วตามมา

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง โลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาฯ ได้

โดยระบุว่า ล่าสุดอุณหภูมิโลกในรอบ 365 วัน ถึงเดือนมกราคม 2567 ได้เพิ่มขึ้น 1.52 oC แล้ว จากข้อมูล C3S/ECMWS 

จากงานวิจัยของ PNAS บ่งชี้ว่าโลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 oC ได้ กล่าวคือ มีความเป็นไปได้มากกว่า 84% ที่โลกจะมีอุณหภูมิแตะ 2 oC ในปี ค.ศ. 2058 และ 2065 สำหรับฉากทัศน์การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับสูง และต่ำตามลำดับ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ IPCC บ่งชี้ว่าเราสามารถจะหลีกเลี่ยงโดยฉากทัศน์ต่ำๆ ได้? 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าวจะทำให้มนุษยชาติ มีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วตามมา โดยไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ ดังเช่นกรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสิ้นสลายของปะการังในมหาสมุทร รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก

มนุษย์มีขีดจำกัดในการปรับตัวได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าขีดจำกัดดังกล่าว คือต้องไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 1.5 oC ปีที่แล้วอุณหภูมิของโลกแตะเกิน 1.5 oC ประมาณ 180 วัน หรือครึ่งปี จึงต้องจับตาสถานการณ์ในปีนี้ เพียงเข้าต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากข้อมูลกรมอุตุฯ บ่งชี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 38-39 oC ที่ จ.กาญจนบุรี สภาพอากาศร้อนมากกว่าปกติ แต่พวกเราจะมีหนาวกับค่าไฟที่จะตามมาน่ะครับ

ล่าสุด อุณหภูมิโลกในรอบ 365 วัน ถึงเดือนมกราคม 2567 ได้เพิ่มขึ้น 1.52 oC แล้ว จากข้อมูล C3S/ECMWS แม้ว่าจะยังไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว 1.5 oC ตามข้อตกลงปารีส แต่มันเป็นการส่งสัญญาณว่า เราคงจะหนีไม่พ้นถึงความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ต้นปีนี้ เริ่มจากคลื่นความร้อน และไฟป่าในประเทศชิลี น้ำท่วมหนักในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น ดังนั้นประเทศไทยต้องตื่นตัวเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ และไกล.


ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

SHARE

Follow us

  • |