- เมื่ออนาคต พื้นที่การฝังกลบขยะมูลฝอย อาจมีไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะ ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 ตันต่อวัน จึงทำให้เกิดแผนการกำจัดขยะด้วยการเปลี่ยนมาเป็นพลังงาน
- ทำความรู้จัก ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ที่จะเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยการเผาไหม้ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอยจำนวนมาก เฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน โดยทั้งหมดจะถูกนำไปฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยได้อย่างเพียงพอ และเกิดเป็นขยะล้นเมือง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน
ดังนั้น กรุงเทพมหานคร จึงมีแผนที่จะพัฒนาการกำจัดขยะ โดยนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพื่อลดปริมาณการกำจัดด้วยการฝังกลบ ในรูปแบบของโครงการจ้างเหมาเอกชนจำกัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นแนวทางสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจการ ในรูปแบบ BOT (ก่อสร้าง-ดำเนินงาน-โอนสิทธิ์)
โดยมี บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัญญาจากกรุงเทพมหานคร ให้เข้ามาดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่ง “ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม” แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 63,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 39 ไร่
ขั้นตอนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า
ในส่วนของการทำงานของศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม รถเก็บขยะจะนำขยะราว 1,000-1,600 ตัน/วัน มาเทที่บ่อรับขยะภายในอาคารระบบปิด 3-5 วัน เพื่อให้ความชื้นลดลงเหลือ 35% โดยการทำงานทั้งหมด จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ
จากนั้นใช้เครนคีบขยะเข้าสู่เตาเผาขยะแบบตะกรับ หรือ Stroker Type ควบคุมความร้อนให้คงที่ 850-1,100 องศาเซลเซียส เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ นำความร้อนไปต้มน้ำที่หม้อไอน้ำ เกิดเป็นไอน้ำแรงดันสูงผ่านตัวขับเคลื่อน เปลี่ยนพลังงานกลให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 30 เมกะวัตต์ต่อวัน
ซึ่งประโยชน์ของโครงการนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการจัดการมูลฝอย โดยใช้ระบบเตาเผาที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดจากการกำจัดมูลฝอยในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า ลดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ฝังกลบ และลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม จะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
- คุณภาพอากาศ
- ควบคุมไอเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษกำหนด
- ติดตั้งระบบติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ที่ปลายปล่องระบายอากาศความสูง 80 เมตร
- ติดตั้งจอแสดงผลคุณภาพอากาศผ่านจอมอนิเตอร์ในจุดที่กำหนดไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ - ด้านเสียง
- ควบคุมระดับเสียงที่เกิดจากการทำงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
- ติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียงไว้ที่เครื่องจักรที่คาดว่าจะเกิดเสียงดังขณะทำงาน
- ปลูกต้นไม้สูงริมรั้วโครงการใช้เป็นแนวกั้นเสียง เพื่อลดทอนเสียงดัง โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้บ้านเรือนประชาชน - น้ำเสีย
- ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย บำบัดให้น้ำมีคุณภาพตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
- น้ำเสีย / น้ำทิ้ง ที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วจะนำกลับมาหมุนเวียนใหม่ในกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ จึงไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก - กากของเสีย
- เถ้าหนัก จะนำไปตรวจสอบสารอันตรายก่อนนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ ซึ่งจะเหลือเพียง 25% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั่วไป
- เถ้าเบา จะถูกดักจับด้วยผงถ่านกัมมันต์ และตกอยู่ในถุงกรองที่มีความละเอียดสูง และจัดส่งให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตนำไปกำจัดต่อไป