• Future Perfect
  • Articles
  • ทส.เปิดยุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่สีเขียว “ลดโลกร้อน-สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

ทส.เปิดยุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่สีเขียว “ลดโลกร้อน-สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

Sustainability

ความยั่งยืน6 ก.พ. 2567 09:50 น.

“ป่าชุมชน”

ยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของประเทศและแก้ปัญหาโลกร้อนหรือโลกเดือด ซึ่งทุกภาคส่วนต่างลงความเห็นว่าต้องฟื้นฟูโลกสีเขียวให้กลับคืนมา รวมทั้งเพื่อแก้ปัญหาไฟป่าในฐานะป่าชุมชนคือป่ากันชน ทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์ทางธุรกิจจากการขายคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนได้อีกด้วย

ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด “ป่าชุมชน” คือการหลอมรวมระหว่างจิตวิญญาณแห่งป่ากับวิถีชีวิตคนเข้าด้วยกัน เพื่อให้คนกับป่า-ป่ากับคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

“ป่าชุมชนคือยุทธศาสตร์สำคัญของ ทส. เพราะป่าชุมชนคือการคำนึงถึงสิทธิและให้อำนาจตัดสินใจกับคนในท้องถิ่นรวมถึงให้คนสามารถพึ่งพาและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน เปลี่ยนราษฎร์จากสถานภาพผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็นผู้อนุรักษ์ป่า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ซึ่งขณะนี้ กรมป่าไม้ที่รับผิดชอบดูแลป่าชุมชนได้มีการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้วกว่า 12,000 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วมกว่า 13,000 หมู่บ้าน มีพื้นที่ป่ากว่า 6.85 ล้านไร่ และให้กรมป่าไม้เร่งจัดตั้งป่าชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามเป้าหมาย 15,000 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน รวมเนื้อที่ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2570” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส.  กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านป่าชุมชน

ผลจากการขยายป่าชุมชนและจากความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ ประชาชนและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าชุมชน ส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนโดยการเก็บหาของป่า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 5 พันล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำในดินและปลดปล่อยน้ำได้มากกว่า 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และที่สำคัญต้นไม้ในป่าชุมชนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน

ที่สำคัญการเดินหน้าเรื่องป่าชุมชนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 หรือ 113.35 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์  ร้อยละ 15 หรือ 48.15 ล้านไร่และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 หรือ 16.05 ล้านไร่ ซึ่งป่าชุมชนเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เป็นเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะรับผิดชอบดูแลป่าชุมชน กล่าวว่า กรมป่าไม้ให้ความสำคัญกับป่าชุมชน เพราะการที่ชุมชนช่วยกันปกป้อง ดูแลรักษาป่าชุมชน และร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า ตลอดจนการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้มีศักยภาพในการกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุน เสริมศักยภาพของชุมชนในการดูแลป่าชุมชน โดยได้รับสิทธิประโยชน์การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนและผู้สนับสนุน ซึ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน จะเป็นทุนทรัพย์ที่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนนำกลับมาใช้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลป่าชุมชน ช่วยลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จ.เพชรบุรี เป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีบัญชีคาร์บอนเครดิตขายอยู่ในตลาดคาร์บอนจากการทำโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โดยป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,276 ไร่ และได้แบ่งเนื้อที่ 1,397 ไร่ มาทำโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โดยชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาป้องกันไฟป่าและช่วยปลูกป่าเสริมป่าชุมชนมาตลอด 7 ปี ซึ่งได้รับการประเมินและผ่านการรับรองคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชุมชน จำนวน 5,259 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ให้สิทธิการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนจำนวน 90% คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนสามารถขายคาร์บอนและนำรายได้เข้าสู่ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน และสามารถนำเงินรายได้นี้กลับมาใช้ประโยชน์และดูแลป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ได้” อธิบดีกรมป่าไม้ ฉายภาพตัวอย่างป่าชุมชนที่สร้างประโยชน์กับชาวบ้าน

ขณะที่ นายฉันท์ อัครสกุลภิญโญ ประธานเครือข่ายป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางเป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่มีบัญชีคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ทำให้มีชุมชนจากหลายจังหวัดเดินทางมาศึกษาดูงาน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและในช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูแล้ง คณะกรรมการป่าชุมชนได้มีแผนงานในการป้องกันไฟป่ารอบป่าชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้มาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแนวกันไฟ พร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์ในการป้องกันไฟป่า สำหรับผลผลิตจากป่าชุมชนที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ ผักสะเดา ผักกระโดน และผักหวาน ที่คนในชุมชนเก็บมาขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว เป็นต้น

ปัจจุบัน กรมป่าไม้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน มากกว่า 132 ป่า เนื้อที่ประมาณ 316,262 ไร่

กรมป่าไม้ยังร่วมมือกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หน่วยงานภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนป่าชุมชนภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ต่อเนื่อง 15 ปี มีป่าชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืนและได้รับการคัดเลือกจำนวน 1,773 แห่ง มีพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ กว่า 1,599,151 ไร่

“ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคม ชุมชนมีความสามัคคี เข้มแข็ง เกิดผลผลิตจากการเกษตรเพิ่มขึ้น ชุมชนมีรายได้เสริมจากป่าชุมชน ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ต่อยอดสร้างเศรษฐกิจชุมชน ป่าชุมชนยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย” นายสุรชัย กล่าว

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ประโยชน์ที่เกิดจากป่าชุมชนมีมากมาย แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือการเพิ่มขึ้นของจำนวนป่าชุมชนเพื่อให้เป็นเครือข่ายที่ถักทอในการสร้างสิ่งแวดล้อมและสร้างป่า

เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับ “คนที่อยู่กับป่า” อย่างยั่งยืน.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

SHARE
00:51

"เมฆสีขาว" ลอยไหลข้ามเทือกเขาตาง๊อก จ.สระแก้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดงดงาม

Follow us

  • |