• Future Perfect
  • Articles
  • วิกฤติหนัก แหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง-กระบี่ เสื่อมโทรม อาจกระทบ "พะยูนไทย" กว่า 70%

วิกฤติหนัก แหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง-กระบี่ เสื่อมโทรม อาจกระทบ "พะยูนไทย" กว่า 70%

Sustainability

ความยั่งยืน2 ก.พ. 2567 13:30 น.

อ.ธรณ์ เผยถึงวิกฤติจากกรณี "แหล่งหญ้าทะเล" ที่ จ.ตรัง-กระบี่ เสื่อมโทรมหนัก ชี้ เป็นที่อยู่ของพะยูนกว่า 70% ด้าน "กรมทะเลฯ" เร่งหาทางแก้ไข

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้โพสต์ข้อความว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดต่อเนื่องมา 2-3 ปี คือความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ตรัง/กระบี่ จึงอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ขอเกริ่นสั้นๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมา หญ้าทะเลในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเห็นแล้วใจหาย

ผมเคยเล่าถึงแหล่งหญ้าบางแห่งในภาคตะวันออก ที่หายไปกับตาในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงปี ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นผลทั้งจากมนุษย์ และจากธรรมชาติ ยังรวมถึงผลกระทบจากโลกร้อนทะเลเดือด

แหล่งหญ้าแต่ละแห่ง อาจได้รับผลต่างกัน เช่น ตะกอนทับโรค (ซึ่งต้องพิสูจน์) การเปลี่ยนทิศกระแสน้ำ ฯลฯ แต่ที่รุนแรงต่อเนื่อง คือแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดของบ้านเรา ตรัง/กระบี่  พื้นที่หญ้าทะเลหลายหมื่นไร่ มีความหมายมากมายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และการทำมาหากินของพี่น้อง ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์หายาก โดยเฉพาะพะยูนกว่า 70% ของไทยอยู่ในบริเวณนั้น

หากดูจากภาพใหญ่ เราพอแบ่งช่วงหญ้าโทรมได้เป็น 2 กลุ่ม ช่วงแรกเกิดปี 64-65 บริเวณอ่าวทุ่งจีน ทางใต้เกาะลิบง สมมติฐานคืออาจเกิดจากกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่แถวนั้น ทำให้ตะกอนลอยมา

แต่กลุ่มสองเริ่มปลายปี 65 ต่อเนื่องถึง 66 จนปัจจุบัน หนนี้คลุมพื้นที่กว้างมากตลอดแนวชายฝั่งตรัง ยังเริ่มลามเข้าไปสู่บางพื้นที่ในจังหวัดกระบี่ หญ้าที่โดนผลกระทบหนัก คือหญ้าคาทะเล อันเป็นชนิดใหญ่ที่สุด มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อสัตว์น้ำ และการกักเก็บคาร์บอน ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ 

เมื่อหญ้าชนิดนี้ลดลง ทำให้ตะกอนในพื้นที่เปลี่ยนไป สภาพระบบนิเวศเปลี่ยนตาม ผลกระทบจึงรุนแรงต่อ ecosystem service เทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง แปลง่ายๆ คือประโยชน์ของระบบนิเวศที่มีต่อสัตว์น้ำ และผู้คนจะลดลงเฉียบพลัน

ตัวอย่างแสนง่ายคือพะยูนจะกินอะไร? 

แม้พะยูนกินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่หญ้าทะเลคืออาหารหลัก มีข่าวว่าปลายปีก่อน/ต้นปีนี้ มีพะยูนจากไปแล้ว 3 ตัว แม้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการลดลงของหญ้าทะเลได้ชัดเจน แต่เริ่มมีสัญญานบ่งบอก

ในต่างประเทศ หญ้าทะเลที่ลดลงในฟลอริดา ทำให้มานาตี (ญาติพะยูน หางกลม) ในบางพื้นที่ลดลง 10% หรือกว่านั้น กรมทะเลฯ จึงกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราทราบก่อนที่จะเกิดปัญหา ยังรวมถึงความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ที่จะน้อยลงแน่ หากระบบนิเวศเปลี่ยนไป จากหญ้าหนาทึบกลายเป็นพื้นทรายโล่งๆ 

ผลกระทบอีกประการที่เกิดขึ้นคือ Blue Carbon 

แหล่งหญ้าทะเล คือเทพในการกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน แต่เมื่อเสื่อมโทรม ความสามารถในการกักเก็บย่อมน้อยลง

มีการศึกษาในต่างประเทศในเรื่องนี้ และผลออกมาน่าหวั่นใจเป็นอย่างมาก หลายเปเปอร์สรุปคล้ายกัน โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจัยบางประการเปลี่ยนไป หญ้าไม่ออกเมล็ด เริ่มโทรม ความหนาแน่นลดลง ก่อนพื้นที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ 

โรคของหญ้าอาจเกิดง่ายขึ้น ทำให้เราต้องเริ่มศึกษาเรื่องนี้เป็นครั้งแรกๆ ในไทย เช่น การเพาะเชื้อที่ร่วมกันระหว่างคณะประมง/กรมทะเลฯ (ดูภาพนะครับ) ปัญหาคือความซับซ้อนของสาเหตุ หลายอย่างเกี่ยวข้องกัน การระบุให้แน่ชัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่านั้นคือการแก้ปัญหา

หากพื้นที่ได้รับผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เราอาจหยุดกิจกรรมดังกล่าว แต่ถ้าเป็นพื้นที่ไม่มีกิจกรรมใด หญ้าดันตาย คราวนี้แหละครับ คือเรื่องยาก เพราะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือด สิ่งแวดล้อมแปรปรวน ระบุสาเหตุก็ยาก แก้ไขยิ่งยากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงการจัดการที่ต้นทาง

แม้ต้นทางก็รู้ๆ กันอยู่ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ รู้กันมาหลายสิบปี แต่เรายังแก้ไขได้น้อยมาก ที่น่าเจ็บใจคือเมื่อผลกระทบเกิดกับระบบนิเวศ คนที่เดือดร้อนกลุ่มแรกๆ คือคนที่อยู่อย่างพึ่งพาและพอเพียง  ไม่ใช่เป็นคนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ แต่เจอผลกระทบก่อนและเจอเยอะ

คำถามสำคัญคือเราควรทำอย่างไรในการช่วยแหล่งหญ้า พะยูน และผู้คน?

คำตอบน่าเศร้า มันไม่ง่ายที่จะแก้ ที่เรามาประชุมกันยาวนานก็เพราะหาทางอยู่ แต่อย่าลืมว่าเราไม่เคยเจอปัญหาแบบนี้ เราแทบไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอโลกที่ร้อนฉ่าขนาดนี้ ไม่เคยเจออุณหภูมิน้ำสูงเป็นประวัติการณ์ หากผลจากโลกร้อนแก้ง่าย เราคงไม่กลัวกันเช่นทุกวันนี้

ข้อเสนออย่างแรกคือเรียนรู้อย่างจริงจัง เก็บข้อมูลให้มาก ศึกษาให้เยอะ นำข้อมูลหลายด้านมาเชื่อมต่อกันให้ได้ เราจำเป็นต้อง "ลงทุน" บุคลากร อุปกรณ์ งบประมาณอย่างเร่งด่วน

เหตุผลง่ายๆ ก็เหมือนกับเราต้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำ มิใช่ป่วยหนักแล้วค่อยไปหาหมอ แต่เราละเลยมาจนเริ่มป่วยแล้ว เริ่มหนักแล้ว จะไปให้คุณหมอรักษา มันก็ไม่ง่ายแน่นอน นักรักษาระบบนิเวศ หากปราศจากข้อมูล ก็เหมือนกับคุณหมอที่ยืนอึ้ง บอกว่าทำไมปล่อยให้ป่วยได้ถึงขนาดนี้

ผมกำลังพูดถึงหญ้าทะเลเป็นหมื่นๆ ไร่ เป็นงานที่แสนสาหัสแน่นอน จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ ถึงอาการป่วยหนักสำหรับแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งของบ้านเรา ถึงตอนนี้ รู้สึกดีใจที่ตั้งหน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อนที่คณะประมง 

ขอบคุณท่านคณบดี และเพื่อนร่วมงานที่ช่วยกัน ขอบคุณเพื่อนๆ ภาคเอกชนที่สนับสนุน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญ้าทะเลบางแห่งในฝั่งอันดามัน ทำให้ทราบแล้วว่าแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวไทยที่กำลังทำงานอยู่สำคัญมากๆ 

จะพยายามเต็มกำลังที่จะดูแลไว้ให้ได้ ฝากเพื่อนธรณ์ที่อยู่ริมทะเล หรือทำงานเกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าทะเลไม่ว่าแห่งใด กรุณาติดตามและปกป้องไว้

ผมพูดไว้วันนี้เลยว่า ในวันหน้า แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์จะหายากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมใดๆ ที่เกิดผลกระทบ สร้างตะกอนจำนวนมาก น้ำเสีย ฯลฯ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงที่สุดครับ.

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนคณะทำงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชั้น 8 และผ่านระบบ Video Conference

การประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม และสมมติฐานเบื้องต้นเรื่องความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการ

เพื่อเป็นแนวทางในการติดตามและวิเคราะห์หาสาเหตุของความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา และการฟื้นฟูหญ้าทะเลเสื่อมโทรม อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรหญ้าทะเลอย่างยั่งยืน.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

SHARE
02:26

นาทีช็อก! “หนุ่มจีน” ลื่นตกหน้าผา ระหว่างเดินป่าฝนตก กล้อง 360 องศา จับภาพนาทีเฉียดตายไว้ได้

Follow us

  • |