• Future Perfect
  • Articles
  • รู้จักปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole คืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย

รู้จักปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole คืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย

Sustainability

ความยั่งยืน31 ม.ค. 2567 20:00 น.
  • ทำรู้จักปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลมหาสมุทรอินเดีย ที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย
  • ความสัมพันธ์ของการเกิด "ปะการังฟอกขาว" กับปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole
  • เปิดสถิติการเกิด IOD ในรอบ 50 ปี และปัจจัยที่ทำให้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์

ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole คืออะไร

ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole หรือ IOD เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกค้นพบโดยนักวิจัยในปี 1999 (แต่สามารถค้นหลักฐานย้อนหลังจากการศึกษาซากฟอสซิลได้ว่า ปรากฏการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อโลกมาตั้งแต่เมื่อ 6,500 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย)

โดยปรากฏการณ์นี้ จะเกิดขึ้นบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรอินเดีย เป็นการเปลี่ยนแปลงไปมาแบบไม่เป็นคาบที่แน่นอนของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล โดยมีช่วงที่เรียกว่า ขั้วบวก ขั้วลบ และเป็นกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภูมิอากาศของประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่อยู่รอบมหาสมุทรอินเดียด้วย

ซึ่งเราตรวจวัดปรากฏการณ์ IOD ได้จากการวัดความแตกต่างของอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลระหว่างฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย โดยฝั่งตะวันตกจะใช้อุณหภูมิพื้นที่บริเวณลองจิจูด 50°E-70°E และละติจูด 10°S-10°N

ส่วนทางตะวันออกจะใช้อุณหภูมิที่พื้นที่บริเวณละติจูด 90°E-110°E และ 10°S-0°S ค่าความแตกต่างที่วัดได้นี้ จะใช้มันเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะของ Indian Ocean Dipole ที่เรียกว่า Dipole Mode Index (DMI)

3 ลักษณะของปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Indian Ocean Dipole คือการเคลื่อนไหวไปมาสลับกันสองด้านฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทอินเดีย ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ โดยส่งผลต่อการเกิดฝนบริเวณประเทศไทย และพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้ 

  1. Positive Phase คือ การที่กระแสน้ำอุ่นไปรวมตัวด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณนั้นอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้ประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เกิดฝนน้อย
  2. Negative Phase คือ การที่กระแสน้ำอุ่นไปรวมตัวด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณนั้นอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้ประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เกิดฝนเพิ่มขึ้น
  3. Normal Phase คือ กระแสน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวไปรวมกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้อุนหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลใกล้เคียงกันทั่วมหาสมุทร ส่งผลทำให้ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ปกติ

Indian Ocean Dipole ส่งผลอย่างไรกับ "การฟอกขาวของปะการัง"

Indian Ocean Dipole (IOD) เป็นปรากฏการณ์ในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีลักษณะคล้ายกับ ปรากฏการณ์ ENSO ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยปรากฏการณ์ทั้งสองจะมีความเชื่อมโยง และสัมพันธ์กันผ่านทางชั้นบรรยากาศ (Atmosphere)

  • ค่า IOD เป็นบวก (positive) ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

จะทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทางด้านฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียมีค่าต่ำกว่าปกติ เช่น ทำให้พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะชวาเกิดปรากฏการณ์น้ำผุด (upwelling) ที่รุนแรง

ส่งผลต่ออุณหภูมิน้ำทะเลเขตชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย จะมีค่าต่ำลง ฝนตกน้อยลง เกิดสภาวะแห้งแล้ง และปรากฏการณ์ระดับน้ำตามแนวทะเลชายฝั่งลดลงมากผิดปกติ ทำให้ปะการังบริเวณน้ำตื้นโผล่พ้นน้ำนานขึ้น เป็นสาเหตุให้ปะการังตาย

  • ค่า IOD เป็นลบ (Negative) ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลทางด้านชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะชวา และทะเลอันดามันเกิดปรากฏการณ์ down welling และได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำน้อยกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลทำให้อุณหภูมิน้ำชายฝั่งสูงกว่าปกติ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปะการังฟอกขาว นอกจากนี้ยังทำให้ฝนตกหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากค่า IOD เป็นกลาง (Neutral) ก็จะทำให้อุณหภูมิน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอยู่ในช่วงปกติ ซึ่งจะไม่มีผลต่อการฟอกขาวของปะการัง

เปิดสถิติการเกิดปรากฏการณ์ IOD ในรอบ 50 ปี

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้เผยสถิติ Indian Ocean Dipole ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972-2022 โดยเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 14 ปี ดังนี้

  • ปี 1972 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 1975 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 1990 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 1992 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 1994 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 1996 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 1997 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 1998 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 2006 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 2010 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 2015 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 2016 เกิด Strong Positive IOD
  • ปี 2019 เกิด Strong Negative IOD
  • ปี 2022 เกิด Strong Positive IOD

ปัจจัยที่ทำให้เกิด IOD

การเกิดปรากฏการ IOD นั้น อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ อาทิ

1. การไล่ระดับอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล (SST) : ความแตกต่างใน SST ระหว่างส่วนตะวันตกและตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญ IOD เชิงบวกเกิดขึ้นเมื่อมหาสมุทรอินเดียตะวันตกอุ่นกว่ามหาสมุทรอินเดียตะวันออก ทำให้เกิดความลาดชันที่เข้มขึ้น

2. ลมค้า : ความแรงและทิศทางของลมค้าโดยเฉพาะลมค้าตะวันออก มีบทบาทในการกำหนด IOD ลมค้าตะวันออกที่อ่อนลง อาจทำให้น้ำอุ่นสะสมในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ IOD เป็นบวก

3. การสั่นของแมดเดน-จูเลียน (MJO) : MJO เป็นการรบกวนบรรยากาศขนาดใหญ่ที่แพร่กระจายไปทางทิศตะวันออกเหนือมหาสมุทรอินเดีย มันสามารถมีอิทธิพลต่อการพัฒนาและความเข้มข้นของ IOD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ใช้งานอยู่

4. ความผันผวนของปรากฏการณ์เอลนีโญ-ภาคใต้ (ENSO) : แม้ว่า ENSO จะส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นหลัก แต่ก็สามารถส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ IOD ได้ ในช่วงเหตุการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มที่ IOD เชิงบวกจะพัฒนา และในระหว่างเหตุการณ์ลานีญา IOD เชิงลบก็มีแนวโน้มมากขึ้น

5. การพาความร้อนในบรรยากาศ : การกระจายตัวของการพาความร้อนในบรรยากาศเหนือมหาสมุทรอินเดียมีความสำคัญต่อการพัฒนา IOD การเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของวอล์คเกอร์ซึ่งสัมพันธ์กับรูปแบบการไหลเวียนของบรรยากาศตะวันออก-ตะวันตก อาจส่งผลต่อการเกิดเหตุการณ์ IOD เชิงบวกหรือเชิงลบ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในรูปแบบที่ซับซ้อน ซึ่งอิทธิพลที่รวมกันของสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ IOD ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นผิวของมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศในมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลกระทบต่อ สภาพภูมิอากาศและสภาวะความรุนแรงสุดขีดของลมฟ้าอากาศของประเทศไทย รวมถึงประเทศต่างๆ ที่อยู่ใกล้มหาสมุทรอินเดีย.

อ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ, กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุตุนิยมวิทยา

SHARE

Follow us

  • |