• Future Perfect
  • Articles
  • ดนตรีเพื่อความยั่งยืน สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งผ่านเสียงดนตรีและศิลปะ

ดนตรีเพื่อความยั่งยืน สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งผ่านเสียงดนตรีและศิลปะ

Sustainability

ความยั่งยืน23 ม.ค. 2567 18:34 น.

อุตสาหกรรมเพลงตระหนักถึงบทบาทของตัวเอง ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาผ่านเสียงดนตรีและศิลปะ

ตั้งแต่ องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่า ยุคของภาวะโลกร้อน (global warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และจากนี้ไป โลกเข้าสู่ "ยุคโลกเดือด" (global boiling) ทำให้คนตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเป็นปัญหาที่มนุษย์กำลังเผชิญกันอยู่ 

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในนั้นคือการปล่อยก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์ รวมไปถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ขณะนี้ต่างก็ปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดนตรี ที่ได้สะท้อนปัญหาออกมาผ่านเสียงเพลง

เช่นเดียวกับ นักดนตรีกลุ่มหนึ่งในอาเซียนที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อผสานพลังแห่งเสียงดนตรีกับความมุ่งมั่นที่ต้องการเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม IKLIM กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ของอินโดนีเซีย ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านศิลปะและเสียงดนตรีบนเวทีระดับโลกของศิลปินอย่าง แมสซิฟ แอทแทค บิลลี่ไอลิช และ เรดิโอเฮด ที่ได้สร้างสรรค์บทเพลงเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยใช้พลังของดนตรีเป็นสื่อเพื่อส่งผ่านความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมสู่สังคม คอนเสิร์ตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เช่น "Music of the Spheres World Tour" ของ โคลด์เพลย์ (Coldplay) ได้แสดงให้เห็นว่าดนตรีสามารถให้ความบันเทิงควบคู่กับการส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้

ในขณะที่สังคมให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเพลงในเอเชียก็ตระหนักถึงบทบาทของตัวเอง งานคอนเสิร์ต สตูดิโอบันทึกเสียง และงานเทศกาลดนตรี จัดขึ้นโดยใช้มาตรการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม งาน "Wonderfruit Festival เทศกาลไลฟ์สไตล์ของคนรักษ์โลก" ที่จัดขึ้นในไทยเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ผ่านการลดปริมาณขยะ การรีไซเคิล และการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในการแสดง เทศกาลดนตรี งานดนตรี "Rainforest World Music Festival" ในมาเลเซียไม่เพียงแต่นำเสนอดนตรีที่หลากหลายแต่ยังส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าฝนและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

สำหรับกลุ่ม "IKLIM" ก่อกำเนิดจากการรวมตัวกันของนักดนตรี 13 คนในอินโดนีเซีย จากข้อกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านงานศิลปะและเสียงดนตรี นำโดย เอนดาห์ เอ็น เรซา (Endah N Rhesa) อิ๊กก้า มาสซารดี (Iga Massardi) นาวิคูลา (Navicula) เดอะ โทนี่ คิว (The Tony Q) ราสตาฟารา (Rastafara) และคนอื่นๆ กับงานแสดงครั้งแรกที่บาหลี อินโดนีเซีย เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ต้องทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการแบ่งปันศิลปะและเสียงดนตรี

โดยอัลบั้มรวมเพลง "sonic/panic" ที่วางจำหน่ายภายใต้ Alarm Records เป็นอัลบั้มแรกของค่ายเพลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของอินโดนีเซีย แนวเพลงที่หลากหลายในอัลบั้มสะท้อนถึงเสียงเรียกร้องให้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเปิดตัวอัลบั้มบนแพลตฟอร์มดิจิทัล คอนเสิร์ต "IKLIM Fest" จึงถูกจัดขึ้นที่ อูบุด (Ubud) บาหลีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาในรูปแบบของเทศกาลดนตรีที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะจำนวนมหาศาลที่มักเกิดขึ้น

เกด โรบิ (Gede Robi) นักร้องนำและมือกีตาร์ของวงนาวิคูลา ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้ง IKLIM กล่าวว่า "เราได้รับแรงบันดาลใจจาก Music Declares Emergency ซึ่งเป็นองค์กรด้านการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก เพื่อสนับสนุนให้นักดนตรีทั่วเอเชียร่วมกันในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” โดยโรบิ ยังมีแผนขยายความร่วมมือกับนักดนตรีในหลากหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ภูฏาน ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และเกาหลีใต้

"เป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมดนตรี โดย IKLIM ทำหน้าที่เป็นคลังความคิดในการผลักดันให้ดนตรีมีบทบาทในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งในทางกลับกัน จะช่วยให้นักดนตรีมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นทั้งในการสร้างความตระหนักรู้และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ"

โดย IKLIM ได้ก่อตั้ง Music Declares Emergency ที่อินโดนีเซีย เป็นก้าวแรกของการเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียกับการรวบรวมนักดนตรี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้รักดนตรีเข้าด้วยกัน เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของศิลปะและดนตรี และยืนหยัดร่วมกันในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ.

SHARE
02:26

นาทีช็อก! “หนุ่มจีน” ลื่นตกหน้าผา ระหว่างเดินป่าฝนตก กล้อง 360 องศา จับภาพนาทีเฉียดตายไว้ได้

Follow us

  • |