มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยเหตุผล ค้านสร้างอุโมงค์ผ่านผืนป่าเขตฯ สลักพระ ผันน้ำช่วยภัยแล้ง เมืองกาญจน์ เหตุเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ และเป็นเรื่องของความมั่นคงต่อระบบนิเวศโดยรอบ
วันนี้ 16 ม.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการคัดค้านโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
โดยระบุว่า "มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอคัดค้านการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จากการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำครั้งที่ 26/2566 หากดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว สามารถเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สืบเนื่องจากการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านน้ำในบริเวณพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ และเป็นเรื่องของความมั่นคงต่อระบบนิเวศโดยรอบ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นป่าผืนเดียวกันกับทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ส่งผลให้รอยต่อของป่าทุกตารางนิ้วนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของพื้นที่ ความต่อเนื่องของเขตป่านั้นจะเป็นประโยชน์แก่การขยายพันธุ์และการหาอาหารของสัตว์ป่า
พื้นที่ก่อสร้างในบริเวณนี้มีลักษณะเป็นภูเขาและที่สูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นเขตที่ราบเชิงเขา อยู่ในอำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ช้างป่า
หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง มีเพียงแต่การใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน ซึ่งอาจทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญ เนื่องจากไม่ได้อัปเดตข้อมูลปัจจุบันของสภาพแวดล้อมโดยรอบในเรื่องของนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า และสภาพทางธรณีวิทยา
พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาพื้นที่แนวอุโมงค์
กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีโดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรงและควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี นั้น เนื่องจากเนื่องจาก อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ และ อ.พนมทวน เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ซ้ำซากของจังหวัดกาญจนบุรี จึงส่งผลให้ราษฎรประสบปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เป็นอย่างมาก และด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มาช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างระยะเวลาโครงการ 5 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2568-2572)